คณะวิทย์ iNT ม.มหิดล ร่วมกับ Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE นำ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารขึ้นเวที SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day โชว์นวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืนสุดล้ำในงาน Techsauce Global Summit 2023

16 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte และ LOTTE นำ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ หรือ Incubator Program ภายใต้โครงการ SPACE-F Incubator รุ่นที่ 4 เปิดประตูพบปะนักลงทุน ผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech และขึ้นนำเสนอผลงานบนเวที ‘SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day’ โชว์เทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตอาหารเพื่อความยั่งยืนสุดสร้างสรรค์ในงาน Techsauce Global Summit 2023 งานประชุมด้านเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการ และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ SPACE-F และพันธมิตร ได้แก่ ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Group Director, Global Innovation) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (Executive Vice President, and Chief Sustainability and Strategy) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ Mr. Jeff, Jaho Lee Director of R&D, Lotte Fine Chemical พร้อมด้วยทีมทำงานในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 เข้าร่วมชมการนำเสนองาน
สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจทั้ง 10 ทีม จากประเทศไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา ได้ผ่านการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อติวเข้มในการพัฒนาต่อยอดไอเดียสู่ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีของตนเองให้เฉียบคม พร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding และพร้อมออกสู่ตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลกมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ (Health and wellness), โปรตีนทางเลือก (Alternative proteins), ส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel food and ingredients), บรรจุภัณฑ์ (Packaging solutions) รวมถึงสร้างและปรับปรุงแผนธุรกิจ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในประเทศไทยและต่างประเทศ รุ่นพี่สตาร์ทอัพในโครงการ อาจารย์นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี พื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งนวัตกรรมของทั้ง 10 ทีม ได้แก่

BIRTH2022: เครื่องดื่มกาแฟสกัดเย็นจากเมล็ดกาแฟหมักด้วยแบคทีเรียโพรไบโอติก ที่มีส่วนช่วยให้มีรสชาติที่แตกต่าง มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และเก็บรักษาได้นานขึ้น
ImpactFat: ไขมันปลาจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ อุดมไปด้วยสารอาหาร โอเมกา 3 และไม่มีกลิ่นคาวปลา และสามารถช่วยเสริมรสชาติของอาหารได้ดียิ่งขึ้น
Marinas Bio: อาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ เน้นวัตถุดิบที่เป็นอาหารทะเล เช่น ไข่ปลาคาร์เวีย และ ไข่ปลาแซลมอน ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Mycovation: นำเสนอวัตถุดิบอาหารรูปแบบใหม่จากรากเห็ดที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก
NutriCious: เครื่องดื่มไข่ขาวแคลอรี่ต่ำเพื่อสุขภาพ รสชาติดี และอุดมไปด้วยสารอาหารจากนม และโปรตีน
Plant Origin: ผลิตภัณฑ์ไข่ทดแทนจากโปรตีนรำข้าว
Probicient: เบียร์โพรไบโอติกเจ้าแรกของโลก ทางเลือกของเครื่องดื่มสังสรรค์ที่ให้ผลดีต่อสุขภาพของคุณ!
The Kawa Project: ผงโกโก้ทดแทนจากกากกาแฟ ที่มีรสชาติและรสสัมผัสที่ไม่แตกต่างจากต้นฉบับ มีราคาที่ถูกกว่า และสามารถนำไปประยุกต์ได้หลากหลาย
Trumpkin: ชีสทางเลือกที่ผลิตจากเมล็ดฟักทอง สามารถทดแทนชีสจากผลิตภัณฑ์นม
Zima Sensors: เซนเซอร์ตรวจจับการรั่วไหลของอากาศในบรรจุภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบการรั่วไหลได้อย่างต่อเนื่อง

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ได้กล่าวในตอนท้ายของการนำเสนอผลงานในครั้งนี้ว่า ในนามของมหาวิทยาลัยมหิดล ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในวันนี้ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญมายาวนาน ซึ่งสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ “ประเทศไทย 4.0” ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและแม้กระทั่งช่วงหลังโควิดระบาด ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารและเกษตรของไทยได้รับความสนใจและแรงผลักดันอย่างมากในการแสดงความแข็งแกร่งทั้งในประเทศและในระดับสากล โครงการ SPACE-F ได้ช่วยสร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นจากประเทศไทยและทั่วโลก
ปัจจุบัน SPACE-F ได้รับการยอมรับในระดับโลกว่าเป็น Food-Tech Startup Incubator และ Accelerator แห่งแรกในประเทศไทย ที่ให้บริการห้องปฏิบัติการร่วมพร้อมโปรแกรมให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ความพิเศษของโครงการ SPACE-F คือความร่วมมือที่แข็งแกร่งของผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตรจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) พันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย
สำหรับโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 นี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ ที่มุ่งเน้นด้านการสร้างนวัตกรรมและงานวิจัยคุณภาพสูงระดับโลก โดยจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นผู้ประกอบการ ได้อำนวยความสะดวกในด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัยพร้อมผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่ และนอกจากนั้นสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ ยังได้เปิดตัวโครงการ Pre-Incubation for SPACE-F เพื่อสำรวจ และทำการบ่มเพาะนักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่วิจัยที่มีความสามารถจากมหาวิทยาลัยมหิดล เสริมศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการให้พร้อมและเหมาะสมกับการสมัครโปรแกรม SPACE-F รุ่นที่ 4 อีกด้วย โดยหลังจบโครงการ Pre-Incubation ทีม Nutricious จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับเลือกเข้าร่วมโปรแกรม Incubator ของ SPACE-F รุ่นที่ 4 ต่อไป ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาได้เรียนรู้การเป็นผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี
ในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้าง ‘ระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร’ สำหรับประเทศไทยร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลักของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่คอยผลักดันอยู่เบื้องหลังเพื่อให้โครงการ SPACE-F ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า SPACE-F จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับประเทศและโลกของเราต่อไปในอนาคต
กิจกรรมในครั้งนี้มีผู้บริหารและพนักงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจทั้งไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบ Online และ On-site เป็นจำนวนมาก นับเป็นการปิดฉากโครงการ SPACE-F Batch 4 อย่างสวยงาม

ทั้งนี้ สำหรับสตาร์ทอัพที่สนใจร่วม โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 สามารถติดตามรายละเอียดการรับสมัครได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายดิเรก อุ่นแก้ว,
นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 16 สิงหาคม 2566