คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมใน “วันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2565”

Activity photo

29 – 30 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิตา คงฤทธิ์ รองหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูนทวี แซ่เตีย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมใน “วันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2565” ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

โดยในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ได้จัดแสดงผลงานให้แก่นักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าเข้าชม ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนจำนวนมาก และต่อมาในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 จึงนำเสนอผลงานแก่ พลโท ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และคณะ
ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นที่นำเสนอในปีนี้ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการชีววิทยาศาสตร์ระบบดิจิทัล (Digital Bioscience Laboratory) ซึ่ง อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชลิตา คงฤทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย จิรัฏฐิติกุล และคณะทำงาน ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาการสอนปฏิบัติการชีววิทยาให้ทันสมัย โดยติดตั้งกล้องจุลทรรศน์เชื่อมต่อกับอุปกรณ์รับภาพดิจิทัล นำภาพขึ้นสู่จอประจำกลุ่ม พร้อมส่งสัญญาณข้อมูลเข้าสู่แท็บเล็ตที่มีแอพพลิเคชั่นแสดงภาพแบบ real-time สามารถบันทึกภาพ วีดีโอคลิป และวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้ผู้เรียนในกลุ่มเห็นและเข้าใจสิ่งเดียวกัน เพิ่มการเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่ม อีกทั้งช่วยสนับสนุนงานวิจัยของบุคลากรและนักศึกษาในหลากหลายระดับ
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

งานวิจัยขั้วไฟฟ้าชนิดพิมพ์สกรีนบนกระดาษเพื่อเซนเซอร์เคมีไฟฟ้า จากกลุ่มวิจัยจากภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ดวงใจ นาคะปรีชา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูนทวี แซ่เตีย ซึ่งได้พัฒนาขั้วไฟฟ้าชนิดพิมพ์สกรีน เพื่อตอบความต้องการในการลดขนาดของอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต วัสดุกระดาษกรองถูกเลือกใช้มาผลิตขั้วไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีพิมพ์สกรีนที่ทำขึ้นได้เองในห้องปฏิบัติการ ชิ้นงานขั้วไฟฟ้าชนิดพิมพ์สกรีนบนกระดาษ มีขนาดเล็กที่ถือได้ด้วยนิ้วมือ มีการใช้งานที่ง่าย เพียงหยดตัวอย่าง จ่ายศักย์ไฟฟ้า อ่านผลเร็ว และเหมาะแก่งานวิเคราะห์ในภาคสนาม

Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
และโครงการการเพิ่มมูลค่าคอลลาเจนจากหนังปลาที่เป็นเศษเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม สู่การเป็นวัสดุปิดแผลประเภทคอลลาเจนไฮโดรเจลและคอลลาเจนโครงสร้างตาข่ายสามมิติ เพื่อใช้ในการรักษาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน จากทีมสตาร์ทอัพนักศึกษาและอาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ซึ่งได้นำหนังปลาที่เหลือจากการผลิตปลากระป๋องและผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปมาพัฒนาเป็นวัสดุปิดแผลประเภทคอลลาเจน ที่มีคุณสมบัติในการเข้ากันได้กับเซลล์และกระตุ้นการสมานแผล เพื่อเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาแผลเรื้อรังสำหรับใช้ภายในประเทศ ที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาย่อมเยา ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ทั้งยังตอบสนองต่อนโยบายของประเทศเรื่องการลดปริมาณขยะ และสอดคล้องกับความสนใจของโลกในขณะนี้ที่เกี่ยวข้องกับการหาแหล่งคอลลาเจนแห่งใหม่ที่มาทดแทนข้อจำกัดบางประการของคอลลาเจนจากหมูและวัวอีกด้วย โดยโครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการตัวอย่างสำคัญที่ช่วยสร้างบัณฑิตให้มี Global Talents ตามยุทธศาสตร์ด้าน Academic and Entrepreneurial Education ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กองทุนยุวสตาร์ทอัพ (YSF) โดย NIA และ TED Fund ภายใต้การบ่มเพาะจากโครงการ Mahidol Incubation Program ของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล รวมไปถึงโครงการ Reinventing University ด้าน Medical devices จากมหาวิทยาลัยมหิดลประจำปี 2564 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดีโอผลงานวิจัยที่ร่วมจัดแสดงนิทรรศการได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1PgaYAMRd0_eQdoiq_i8TgGrxARsdirCa/view?usp=sharing และติดตามข่าวสารจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทาง https://www.facebook.com/MahidolSC/ หรือ https://science.mahidol.ac.th/th/

Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวรุ่งระวี แทนวันชัย
ภาพข่าวโดย : นายกิตติพศ เศวตสุตร
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565