คณะวิทย์ ม.มหิดล จับมือ เนสท์เล่ และเครือข่ายพันธมิตร ลงนาม MOU โครงการ SPACE-F ในงานแถลงข่าว “Collaboration for the Future of Food” เพื่อร่วมขับเคลื่อนอนาคตวงการอาหารไทย พร้อมสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมโอกาสการเติบโตของ FoodTech Startup ในการพัฒนานวัตกรรม

       12 กุมภาพันธ์ 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จับมือ เนสท์เล่ อินโดไชน่า องค์กรอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ ที่มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงชั้นนำระดับโลก และแบรนด์ระดับท้องถิ่นที่เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เข้าร่วมโครงการ SPACE-F ในงานแถลงข่าว Collaboration for the Future of Food” ณ ห้อง Pinnacle 4-5 ชั้น 4 โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

       บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า (Nestlé Indochina) ถือได้ว่าเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุม 190 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองเวเวย์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และดำเนินธุรกิจอย่างยาวนานมากว่า 150 ปี เนสท์เล่นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับผู้คนและสัตว์เลี้ยงครอบคลุมในทุกช่วงวัย มากกว่า 2,000 แบรนด์ ในปัจจุบัน เนสท์เล่ มีโรงงานในประเทศไทย ทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งทำหน้าที่ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มประเภทต่าง ๆ ทั่วประเทศ ภายใต้เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง เช่น เนสกาแฟ เนสท์เล่ตราหมี ไมโล เนสท์เล่เพียวไลฟ์ เนสวิต้า แม็กกี้ และเนสท์เล่ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงของเนสท์เล่เป็นที่รู้จักกันดีและได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย

       โดยในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจได้รับเกียรติจากคุณศุภมาศ อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเป็นประธานในงานแถลงข่าวโครงการ SPACE-F หนุนนวัตกรรมฟู้ดเทคและสตาร์ทอัพให้กับประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล, ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และคุณวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ให้การต้อนรับในพิธีร่วมลงนามในครั้งนี้ โดย คุณศุภมาส กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของกระทรวง อว. คือการมุ่งเน้นส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจฐานคุณค่า ด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และอุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกในปี 2566 กว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีสถานประกอบการกว่า 1.36 แสนราย และก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 9.73 แสนตำแหน่ง

       และในโอกาสนี้ ทางมหาวิทยาลัยมหิดลนำโดย คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ  และทีมบริหาร ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม, รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม อีกทั้งยังได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมคณะกรรมการบริหารโครงการ SPACE-F ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มาเป็นแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานแถลงข่าวในครั้งนี้ด้วย

       ซึ่งความร่วมมือกับทางพันธมิตรเอกชนที่เป็นบริษัทชั้นนำทางอาหารและเครื่องดื่มระดับสากล ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และพันธมิตรใหม่อย่าง บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันการสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ FoodTech Startup ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่อุตสาหกรรมอาหารระดับโลก และผลักดันให้สตาร์ทอัพได้มีการค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา ที่ตอบโจทย์ต่อความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก อีกด้วย ซึ่งมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืนใน 9 ประเด็น ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services ผ่านการเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะ และโปรแกรมเร่งการเติบโตทางธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลก และระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการดึงดูด FoodTech Startup ต่าง ๆ จากทั่วโลกมาเข้าร่วมโครงการ เปรียบเสมือนประตูเข้าสู่ตลาดประเทศไทยและตลาดโลก

       โครงการ SPACE-F เป็น Food-Tech Startup Incubator และ Accelerator แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการห้องปฏิบัติการพร้อมโปรแกรมให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จากความร่วมมือของผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตรจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และล่าสุด บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับประเทศ ร่วมผนึกกำลังกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย พร้อมผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่

       ที่ผ่านมาโครงการได้สร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว 4 รุ่น รวมถึงให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเปิดมุมมองในการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานสู่นวัตกรรมอีกด้วย

       โดยในปีนี้ โครงการ SPACE-F ที่จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 5 (SPACE-F Batch 5) น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการร่วมมือในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน  (Public-Private Partnership) ในโครงการ SPACE-F ให้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการ SPACE-F Batch 5 ได้ที่ https://www.space-f.co/ และ https://www.facebook.com/spaceffoodtech  

       นอกจากนี้ ทางโครงการ SPACE-F ที่ได้ดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว โดยยังคงมีการมุ่งพัฒนาด้านการสร้างนวัตกรรม และงานวิจัยคุณภาพสูงในระดับสากล ผ่านการจัดรูปแบบการศึกษากับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาที่มีความสนใจได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี อีกทั้งทางมหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มีการสนับสนุนการพัฒนานักศึกษาและอาจารย์ให้สามารถสร้างสรรค์แนวคิด วิธีการ สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีอยู่ของตนเอง มาทำการต่อยอด เพื่อนำไปออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้อีกด้วย

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567