16 สิงหาคม 2566 คณะผู้บริหาร สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธณัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รับพระราชทานโล่ รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2565 ณ วังสระปทุม
รางวัลครูวิทยาศาสตร์ดีเด่น เป็นรางวัลที่มอบให้กับครูวิทยาศาสตร์ผู้มีความรู้ความสามารถ มีความโดดเด่นด้านการสอนวิทยาศาสตร์ มีผลงานด้านการสอนและพัฒนาสื่อช่วยสอนในด้านต่าง ๆ ก้าวทันเทคโนโลยีในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง คิดและใช้เทคนิคและนวัตกรรมใหม่ๆ ในการสอนวิทยาศาสตร์ บูรณาการศาสตร์พื้นฐานสู่การประยุกต์ใช้จริง รวมถึงส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ความสามารถใช้วิทยาศาสตร์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศ รวมถึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยมีการเปิดตัวผู้ได้รับรางวัลในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติทุก ๆ ปี
“หน้าที่ของครูไม่ใช่แค่เพียงให้ความรู้ตามตำรา แต่ต้องเป็นตัวอย่างและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ส่วนหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ คือการแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อเจอปัญหาอย่าได้กลัว สำหรับนักวิทยาศาสตร์ปัญหาคือโอกาสในการสร้างนวัตกรรม”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ เป็นทั้งอาจารย์และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนและนักศึกษา ผ่านการออกแบบนวัตกรรมการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ มากมาย เช่น การประยุกต์ใช้วัสดุท้องถิ่นเพื่อสร้างกล้องจุลทรรศน์แบบ DIY การใช้พลานาเรียในการศึกษา Ethogram ของสิ่งมีชีวิต และเทคนิคการสอนแบบ Time-Restricted Inquiry-Based Learning เพื่อกระตุ้นความสนใจและฝึกทักษะการทำงานเป็นหมู่คณะให้กับนักศึกษาในวิชาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ออกแบบบทเรียนวิวัฒนาการสมัยใหม่ สำหรับนักศึกษาแพทย์และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ที่ครอบคลุม ทันโลก และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในเรื่อง หลักการกับโรคอุบัติใหม่ การวิวัฒน์ของเชื้อดื้อยา การต้านยาของมะเร็ง วิวัฒนาการกับเพศวิถี เป็นต้น และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มวิจัยชีววิทยาเพื่อการศึกษาและความบันเทิง สร้างห้องเรียนออนไลน์พิษวิทยาสำหรับบุคคลทั่วไป เป็นบรรณาธิการและผู้เขียนร่วมในหนังสือโลกของสารพิษและถิ่นที่อยู่ เพื่อส่งเสริมการเรียนการสอนพิษวิทยาเพื่อประชาชน ร่วมก่อตั้ง Facebook page ToxicAnt เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นพิษ และร่วมเป็นผู้บรรยายในงาน TEDxChiangMai 2014 เป็น ผู้ถือลิขสิทธิ์และผู้ร่วมจัด TEDxMahidolU 2017 และ 2018
ทั้งยังสื่อสารวิทยาศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยที่น่าสนใจทั่วโลก โดยเป็นผู้เขียน ผู้แปล และบรรณาธิการหนังสือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายเล่ม อาทิ Vaccine war สงครามวัคซีน สำนักพิมพ์มติชน , เมื่อโลกติดเชื้อฉบับกระชับ สำนักพิมพ์ Illuminations Editions, Ani-More วิทยาสัตว์ สำนักพิมพ์มติชน และยังเป็นนักเขียนประจำให้กับ คอลัมน์ทะลุกรอบ ในมติชนสุดสัปดาห์ อีกด้วย
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 22 สิงหาคม 2566
จำนวนคนดู: 89