5 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือภาคเอกชน บริษัท พีอาร์ไนน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (PR9 Corporation) ร่วมกับ บริษัท ไมโคร อินโนเวต จำกัด (Microinnovate Co.,Ltd) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงนามความร่วมมือขยายสิทธิการใช้ตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์ Pediococcus pentosaceus รหัส P7 เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดูแลสุขภาพ พร้อมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “BM9 Plus Synbiotics” โชว์ศักยภาพอาหารเสริมเทคโนโลยีชีวภาพจากงานวิจัยโดยคนไทยเพื่อคนไทยคว้ารางวัลเหรียญทองระดับโลก
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท พีอาร์ไนน์ คอร์ปอเรชั่น นำโดย ดร.เสกข์สรร ธีระวาณิชย์ ประธานกรรมการ และคุณพงษ์กฤตย์ องค์ศิริวัฒนา รองประธานบริหาร บริษัท ไมโครอินโนเวต จำกัด นำโดย คุณสรพหล นิติกาญจนา กรรมการผู้จัดการ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นำโดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สายงานอุตสาหกรรมและชุมชน ได้ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีลงนาม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ปทุมธานี ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 3
ความร่วมมือที่ผ่านมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย ปานบ้านเกร็ด อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) ได้ประดิษฐ์และถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อในไปใช้ในการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ Pediococcus pentosaceus รหัส P7 ส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ BM9 Plus Synbiotics ให้กับบริษัท พีอาร์ไนน์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2557
การลงนามในครั้งนี้จึงเป็นการต่อสัญญาความร่วมมือเดิม และขยายความร่วมมือเพิ่มเติมไปยัง บริษัท ไมโคร อินโนเวต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ สวทช. เพื่อการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ BM9 plus โดยพัฒนากลุ่มเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกจาก 6 สายพันธุ์เป็น 11 สายพันธุ์ รวมไปถึงการพัฒนาสารพรีไบโอติก เช่น เบต้ากลูแคน ให้มีความบริสุทธิ์ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการดูแลสมดุลของร่างกายให้ดียิ่งขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ iNT กล่าวถึงบทบาท และความตั้งใจของมหาวิทยาลัยมหิดลว่า ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล เราพยายามสร้างสะพานเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ที่เรามี ให้เกิดการนำไปใช้ในวงกว้าง และสร้างคุณค่าให้กับงานวิจัย ในการสร้างประโยชน์ต่อภาคประชาชนและสังคมเป็นเป้าหมายหลัก เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระบรมราชชนก ที่มหาวิทยาลัยยึดถือเป็นหลักปรัชญาว่า “ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ” โดยเฉพาะงานวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพันธุวิศวกรรมที่นำมาใช้ในวันนี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจที่ทางมหาวิทยาลัย ที่ได้เห็นผลงานวิจัยที่มีคุณภาพจากห้องปฏิบัติการถูกนำมาต่อยอดในระดับอุตสาหกรรม เป็นผลิตภัณฑ์ในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้ผู้คนต่อไป
ด้าน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.วัฒนาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ และพันธุวิศวกรรม กล่าวว่า การสร้างงานวิจัยเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย เป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของนักวิจัยไทย จากการทำงานด้านจุลินทรีย์และงานวิจัยด้านพันธุวิศวกรรม 30 ปี ผลงานหนึ่งที่ภาคภูมิใจคือ Probiotic Bacteria ซึ่งเป็นกลุ่มของเชื้อจุลินทรีย์ประเภท Lactic Acid Bacteria ที่สามารถสร้างสารที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการปรับสมดุลของระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย กระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย การได้เห็นผลงานวิจัยถูกนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับคนไทย และเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีของคนไทย ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับผลิตภัณฑ์ BM9 Plus Synbiotics ได้รับการรับรองคุณภาพด้วยรางวัลเหรียญทอง Gold Award เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2561 – 2563 จากสถาบัน Monde Selection ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นองค์กรในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงยาวนานระดับโลกมากกว่า 60 ปี และเป็นที่ยอมรับต่อผู้คนทั่วโลก และล่าสุดผลิตภัณฑ์ BM9 Plus Synbiotics ก็ได้คว้ารางวัลคุณภาพสูงสุดเหรียญ GRAND GOLD AWARD 2023 ซึ่งเป็นการการันตีถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ความมั่นใจสูงสุดแก่ผู้บริโภคและผู้จัดจำหน่าย
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : งานพันธกิจพิเศษ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 7 สิงหาคม 2566
จำนวนคนดู: 218