อาจารย์นักวิจัย ม.มหิดล คว้าทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงประจำปี 2565 มุ่งยกระดับงานวิจัยแนวหน้า พัฒนาเทคโนโลยีอวกาศฝีมือคนไทย

8 สิงหาคม 2566 อาจารย์นักวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล (Professor Dr. David John Ruffolo) อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ หัวหน้าโครงการวิจัย ‘วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศ’ ผู้ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูงประจำปี 2565 – 2566 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมงาน เปิดตัวนักวิจัยศักยภาพสูงและแถลงงานวิจัย ประจำปี 2565 – 2566 ในงาน มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ณ ห้อง Lotus Suite โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ภายในงานได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ (สวทช.) ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง และประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กองทุนส่งเสริม ววน. ร่วมแถลงข่าว และในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมมอบดอกไม้แสดงความยินดีกับอาจารย์และทีมวิจัยที่ได้รับทุนในครั้งนี้ พร้อมเยี่ยมชมบูธนำเสนอผลงาน
ทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยศักยภาพสูง เป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนและผลักดันให้เกิดงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกิดขึ้นในประชาคมวิจัย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านวิชาการในระดับนานาชาติ และเร่งการประยุกต์ใช้ผลงานเพื่อการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ประเทศอย่างยั่งยืน

โดยผู้ที่ได้รับทุนในปี 2565 ได้แก่
– ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเรื่อง “วิศวกรรมการปรับแต่งเอ็กโซโซม เพื่อการนำส่งยาจำเพาะแม่นยำ สำหรับรักษาโรคทางระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด”
– ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเรื่อง “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศ”
– ดร.กัลยาณ์ ศรีธัญญลักษณา-แดงติ๊บ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และอาจารย์สมทบภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเรื่อง “การประยุกต์ใช้องค์ความรู้ของกลไกการอยู่ร่วมกันของกุ้งและไวรัสเพื่อประโยชน์ ในการควบคุมโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกุ้ง”

และผู้ที่ได้รับทุนในปี 2566 ได้แก่
– ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โครงการวิจัยเรื่อง “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็งพื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”
– ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิศิษฎ์ ทองบุญเกิด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเรื่อง “การค้นหาระบุชนิดและลักษณะเฉพาะของโปรตีนในปัสสาวะที่มีฤทธิ์ยับยั้งหรือกระตุ้นการเกิดนิ่วไตชนิดแคลเชี่ยมอ๊อกซาเลทแบบครอบคลุม”
– รองศาสตราจารย์ ดร.ครศร ศรีกุลนาถ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการวิจัยเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถการปรับปรุงพันธุ์กลุ่มปลาดุก (ปลาดุกอุย ปลาดุกยักษ์ และลูกผสมบิ๊กอุย) เพื่อยกระดับผลผลิตและนวัตกรรมอุตสาหกรรมสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน”

สำหรับ โครงการ ‘วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของกัมมันตรังสีในอวกาศ’ เป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาให้ประเทศไทยมีเทคโนโลยีอวกาศเป็นของตนเองโดย ขณะนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล หัวหน้าโครงการวิจัย และทีมนักฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูงของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมุ่งศึกษาอนุภาคพลังงานสูงนอกโลก หรือรังสีคอสมิก ที่ปลอดปล่อยมาจากกิจกรรมของดวงอาทิตย์ และส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์ กำลังสร้างเครื่องวัดรังสีคอสมิกขนาดเล็ก เพื่อติดตามผลกระทบของพายุสุริยะต่อกัมมันตรังสีรอบโลก สำหรับดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งวางแผนว่าจะโคจรข้ามขั้วโลกในปี พ.ศ. 2568 และในระยะต่อไปก็ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกสำหรับยาน TSC-2 ยานอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาขึ้นใน พ.ศ. 2570 ซึ่งจะเป็นการยกระดับการศึกษาอนุภาครังสีคอสมิกจากภาคพื้นดินสู่อวกาศ และยังมีแผนจะต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe (PSP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นยานแรกที่ “สัมผัส” ดวงอาทิตย์ ขณะยานนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมกับข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต

ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้ร่วมกับนักวิจัยไทยและนานาชาติทำการศึกษารังสีคอสมิก เสนอทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกท่ามกลางความปั่นป่วนของลมสุริยะ การเร่งอนุภาคที่คลื่นกระแทกจากพายุสุริยะ และวิธีบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จะมาถึงโลกและส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์ ตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิกต่อเวลา ได้รับการสนับสนุนระยะ 10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) เพื่อดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและอนุภาคมิวออน ณ Mawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา เข้าร่วมในโครงการ LHAASO ซึ่งมีเครื่องวัดรังสีคอสมิกยักษ์ใหญ่ ขนาดกว่า 1 ตร.กม. ใน ประเทศจีนอีกด้วย

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี,
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 8 สิงหาคม 2566