12 หน่วยงาน ผนึกกำลังจัดตั้ง “ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย” หวังใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาคน ยกระดับอุตสาหกรรมไทย

         5 เมษายน 2564 ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ฯ 6 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จับมือ 6 สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย สร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย” พิธีเปิดได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) กล่าวแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในการลงนาม 

          ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว และนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยดร.กุลภา ไชยวงศ์คต นักวิจัยหลังปริญญาเอก และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย นำเสนอผลงานชื่อ ระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิกเพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ ผลงานดังกล่าวมีส่วนช่วยในการผลิตเครื่องตรวจวัดไอออน จากอวกาศ โดยมีการดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือในนามภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มการวิจัยเพื่อการออกแบบและสร้างระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิกเพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ เป็น Payload ลำดับที่ 2 ของดาวเทียมTSC1 ในชื่อเรียกว่า Polar Orbiting Ion Spectrometer Experiment หรือ “POISE”และมีแผนเสร็จสิ้นพร้อมส่งขึ้นโคจรในอวกาศปี พ.ศ.2570  ทั้งนี้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแสดงความยินดีในงานแถลงข่าวดังกล่าวด้วย

 

            การลงนามครั้งนี้มีความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาคน  เปลี่ยนประเทศจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” พร้อมดึงเอกชน หนุนสตาร์ทอัพ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชาติ จากการผนึกกำลัง 6 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จับมือ 6 สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) รวมหน่วยงานร่วมลงนามทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ดังนี้

  1. สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
  2. สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  3. สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
  4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
  5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  6. สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
  7. สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  8. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  9. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  10. มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
  12. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

เขียนข่าว : นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
ตรวจสอบโดย นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
เว็บมาสเตอร์: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
วันที่ 5 เมษายน 2564