5 เมษายน 2564 ณ ห้องกมลทิพย์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพ ฯ 6 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จับมือ 6 สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศไทย สร้าง “ดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ฝีมือคนไทย” พิธีเปิดได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) กล่าวแสดงความยินดีและเป็นสักขีพยานในการลงนาม
ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมพิธีลงนามดังกล่าว และนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการโดยดร.กุลภา ไชยวงศ์คต นักวิจัยหลังปริญญาเอก และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการวิจัย นำเสนอผลงานชื่อ ระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิกเพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ ผลงานดังกล่าวมีส่วนช่วยในการผลิตเครื่องตรวจวัดไอออน จากอวกาศ โดยมีการดำเนินงานร่วมกับสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือในนามภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อการพัฒนาดาวเทียมวิจัยวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มการวิจัยเพื่อการออกแบบและสร้างระบบตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงจากรังสีคอสมิกเพื่อการประเมินและเตือนภัยสภาพอวกาศ เป็น Payload ลำดับที่ 2 ของดาวเทียมTSC1 ในชื่อเรียกว่า Polar Orbiting Ion Spectrometer Experiment หรือ “POISE”และมีแผนเสร็จสิ้นพร้อมส่งขึ้นโคจรในอวกาศปี พ.ศ.2570 ทั้งนี้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแสดงความยินดีในงานแถลงข่าวดังกล่าวด้วย
การลงนามครั้งนี้มีความสำคัญในการใช้เทคโนโลยีอวกาศพัฒนาคน เปลี่ยนประเทศจาก “ผู้ซื้อ” เป็น “ผู้สร้าง” พร้อมดึงเอกชน หนุนสตาร์ทอัพ ยกระดับอุตสาหกรรมไทย พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้คนในชาติ จากการผนึกกำลัง 6 หน่วยงานวิทยาศาสตร์ชั้นนำ จับมือ 6 สถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ( อว. ) รวมหน่วยงานร่วมลงนามทั้งสิ้น 12 หน่วยงาน ดังนี้
- สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
- สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
- สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
- มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- มหาวิทยาลัยมหิดล
- สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
- สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เขียนข่าว : นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
เว็บมาสเตอร์: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
วันที่ 5 เมษายน 2564