คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมนำเสนอผลงานเพื่อสังคมในงาน MUSEF2022 Healthy Together สื่อสารองค์ความรู้จากโครงการและงานวิจัยเพื่อมวลมนุษยชาติ

Activity photo
27 กันยายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมนำเสนอ 4 ผลงานเพื่อสังคมในงาน Mahidol University Social Engagement Forum: MUSEF2022 Healthy Together ชุมชนเมืองสุขภาพดี ณ มหิดลสิทธาคาร และศูนย์ประชุมและอาคารจอดรถมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานในพิธีเปิด และคุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธุ์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และรองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ เป็นผู้บรรยายพิเศษเรื่อง “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม : Local Actions for Global Impact”

นอกจากนั้น ยังมีการเสวนาเรื่อง “สุขภาพเมือง : ความท้าทายและแนวทางการแก้ปัญหา (Urban Health: Challenges and Potential Solutions) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และรองศาสตราจารย์ ดร.ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมหานคร (ศสม.) และอดีตคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

สำหรับการนำเสนอผลงาน คณะวิทยาศาสตร์ได้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานเพื่อสังคมในรูปแบบ Poster Presentation จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่ โครงการสื่อสารวิทยาศาสตร์ผ่านสื่อออนไลน์ (Mahidol Science Channel) ที่ให้ความสำคัญกับการสื่อสารตามเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของคณะวิทยาศาสตร์ ในด้านการเผยแพร่ความรู้เพื่อมวลมนุษยชาติ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีสู่สังคมเพื่อความผาสุกและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ผ่านการสื่อสารสร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมในรูปแบบสื่อออนไลน์โดยมี นางสาวปัณณพร แซ่แพ และนางสาวภัทรศุภางค์ คงคาเนรมิตร เป็นผู้แทนงานสื่อสารองค์กร ให้ข้อมูลแก่ผู้ร่วมงาน และโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรรุกขกรระดับปฏิบัติการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานบริหารและธุรการ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทักษะบุคลากรและจัดซื้อเครื่องมือมาตรฐานสำหรับงานรุกขกร เพื่อดูแลต้นไม้ใหญ่กว่า 300 ต้น ภายในคณะวิทยาศาสตร์ตามหลักวิชาการ ให้มีทรงพุ่มสวยงาม ปลอดภัยต่อประชาชน ทั้งยังรักษาพื้นที่สีเขียวอันเป็นปอดของเมือง สร้างสิ่งแวดล้อมสวนป่าใจกลางเมืองให้น่าอยู่น่าเรียนควบคู่กันไปอย่างลงตัว
พร้อมนำเสนอ 2 ผลงานวิชาการเพื่อสังคมในรูปแบบ Oral Presentation โดย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.นรัตถพล เจริญพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง “ภาวะเครียดที่ก่อให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูกและการบริโภคแคลเซียมเสริมอย่างเพียงพอ” กล่าวถึงการค้นพบความเชื่อมโยงของโรคกระดูกพรุนและความเครียดเรื้อรังที่มีผลต่อความแข็งแรงของกระดูก และ รองศาสตราจารย์ ดร.รพีพรรณ วานิชวิริยกิจ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ นำเสนอผลงานเรื่อง “จากองค์ความรู้สู่การพัฒนากลยุทธ์ต้านโรคกุ้งตายด่วน” กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากการศึกษาโรคระบาดในกุ้งโดยใช้เทคนิคด้านเซลล์วิทยาและชีววิทยาโมเลกุล
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพกิจกรรม : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
และ ว่าที่ ร.ต.หฤษฎ์ อภิเดช
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ