คณะวิทย์ ม.มหิดล ปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ สัญลักษณ์แห่งการวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ในอนาคต ณ มหิดล ศาลายา

17 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์ ผู้ช่วยคณบดี คุณปิยะ โพธิ์สิทธิ์ หัวหน้างานศาลายา คุณณัฐพล แนวจำปา หัวหน้างานการศึกษา และเจ้าหน้าที่งานศาลายา ร่วมกันปลูก ‘ต้นราชพฤกษ์อวกาศ’ เพื่อ เป็นสัญลักษณ์แห่งการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคต โดยมีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานที่แข็งแรง และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของคณะวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ ณ บริเวณสวนอาคารบรรยายรวม L2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ต้นราชพฤกษ์อวกาศ เป็นต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เดินทางไปอวกาศภายใต้โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) Mission II ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการด้านชีววิทยาอวกาศ (Space Biology) โดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการ Plant Biology and Astroculture Laboratory (PBA Lab) กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ และหน่วยงานคู่ความร่วมมือ
เมล็ดราชพฤกษ์ถูกส่งขึ้นไปเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนถูกนำกลับมาสู่พื้นโลก เพื่อเพาะเมล็ดเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เดินทางไปอวกาศ ซึ่งได้ผ่านสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศ กับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ ณ โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการแจกจ่ายต้นราชพฤกษ์อวกาศให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปปลูกและต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อไป

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : ว่าที่ ร.ต.ภัทรพล ตันตระกูล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566