คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคม ใน “วันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566”

       20 – 21 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์, รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาราภรณ์ เตรียมโพธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี, รองศาสตราจารย์ ดร. กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ, รองศาสตราจารย์ กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ, เรืออากาศตรี นินาท บุญเปรมปรีดิ์ และ นางสาววาสิฎฐี แจ้งสว่าง ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อสังคมใน “วันนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566” ณ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

       โดยในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พลเอกหญิง ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้บัญชาการพิเศษโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้า เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธานและทอดพระเนตรนิทรรศการวิชาการฯ

       และต่อมาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการนำเสนอผลงานแก่ พลโท ไกรภพ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และคณะ รวมไปถึงนักเรียนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าที่เข้าชม

      ในครั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมเด่นที่ไปนำเสนอ ได้แก่ “ศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อสะเต็มศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรรณพงษ์ เตรียมโพธิ์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ดาราภรณ์ เตรียมโพธิ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร. กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน เกี่ยวกับ โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ Euro-Asia Collaboration for Enhancing STEM Education (EASTEM) โดยมีเป้าหมายในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อประโยชน์สุขของสังคมไทย โดยผลักดันให้เกิดการประยุกต์ใช้การศึกษาวิถีสะเต็มแบบบูรณาการที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต และพัฒนาความเชี่ยวชาญด้านอาชีพของผู้เรียนตามศักยภาพอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ

       “การพัฒนากระบวนการแยกและใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งในแปลงสับปะรด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย เกี่ยวกับ การคิดค้นแนวทางใหม่ในการสกัดแยกเส้นใยจากใบสับปะรดที่สามารถขยายกำลังการผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้ และศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์เส้นใยสับปะรด ในการเสริมแรงพลาสติกทั่วไป พลาสติกวิศวกรรม และยางชนิดต่างๆ เพื่อให้ได้วัสดุคอมโพสิตที่มีสมรรถนะสูงขึ้น สามารถใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น มี Carbon Footprint ที่ต่ำลง และยังเป็นการกักเก็บคาร์บอนอีกด้วย                     

       นอกจากนี้ การวิจัยเพื่อนำแป้งในลำต้นสับปะรดไปใช้ในการผลิตฟิล์มบรรจุภัณฑ์ คอมโพสิต และโฟมที่ย่อยสลายได้ ภายในระยะเวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ เมื่อถูกทิ้งไว้ในสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการพัฒนาแป้งนี้ให้มีสมบัติ และความทนทานเพิ่มมากขึ้นโดยการดัดแปรทางเคมี เพื่อทดแทนพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม

       การขึ้นรูปโครงสร้างแซนวิชรังผึ้งด้วยเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ สำหรับการดูดซับพลังงาน” โดย รองศาสตราจารย์ กิตติทัศน์ สุบรรณจุ้ย, เรืออากาศตรี นินาท บุญเปรมปรีดิ์ และ นางสาววาสิฎฐี แจ้งสว่าง เกี่ยวกับ การเพิ่มประสิทธิภาพของเสื้อเกราะกันกระสุนให้ผู้สวมใส่เกิดความบาดเจ็บหลังจากถูกยิงน้อยที่สุด โดยมีการเพิ่มชั้นของอุปกรณ์ดูดซับพลังงานจลน์เสริมระหว่างตัวผู้สวมใส่กับพื้นผิวด้านหลังเสื้อเกราะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโดยรวม ผ่านวิธีไฟไนท์อีลีเมนท์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อการคำนวณทางวิศวกรรมก่อนการสร้างชิ้นงานตัวอย่าง ผ่านแบบจำลองโครงสร้างรังผึ้ง ที่ถูกสร้างใน ANSYS LS-DYNA โดยช่วยในการคำนวณรูปทรงที่เหมาะสมที่สุด และเพื่อขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเทคนิค 3D print                                                               

       ซึ่งโครงสร้างรังผึ้ง ถูกจัดเป็นโครงสร้างที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการใช้งานการขึ้นรูปจากซิลิโคนผ่านเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ Direct Ink Write (DIW) เพื่อเป็นวัสดุซับพลังงาน ตัวอย่างที่ทดสอบประกอบด้วยแผ่นเหล็กเพื่อจำลองแผ่นเกราะที่อยู่ในเสื้อเกราะกันกระสุน มีโครงรังผึ้งซิลิโคนเป็นอุปกรณ์ดูดซับแรงกระแทก โดยที่ตัวอย่างโดยรวมอยู่ระหว่างการทดสอบและประเมินค่าทางเทคนิคเชิงกลเพื่อการนำไปใช้ต่อไป

       โดยงานนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า 2566 ในปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 16  ที่ได้มีสถาบันและหน่วยงานเข้าร่วมจัดแสดงผลงานวิจัยและโครงงานจำนวน 74 ผลงาน จาก 27 สถาบัน ซึ่งในการจัดนิทรรศการวิชาการโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ผลงานวิชาการ ผลงานวิจัยของคณาจารย์และโครงงานวิจัยของนักเรียนนายร้อย เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหมด้วยดีเสมอมา

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : งานวิจัย
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566