17 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์ ผู้ช่วยคณบดี คุณปิยะ โพธิ์สิทธิ์ หัวหน้างานศาลายา คุณณัฐพล แนวจำปา หัวหน้างานการศึกษา และเจ้าหน้าที่งานศาลายา ร่วมกันปลูก ‘ต้นราชพฤกษ์อวกาศ’ เพื่อ เป็นสัญลักษณ์แห่งการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคต โดยมีวิทยาศาสตร์เป็นรากฐานที่แข็งแรง และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของคณะวิทยาศาสตร์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ ณ บริเวณสวนอาคารบรรยายรวม L2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ต้นราชพฤกษ์อวกาศ เป็นต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เดินทางไปอวกาศภายใต้โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) Mission II ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการด้านชีววิทยาอวกาศ (Space Biology) โดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการ Plant Biology and Astroculture Laboratory (PBA Lab) กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ และหน่วยงานคู่ความร่วมมือ
เมล็ดราชพฤกษ์ถูกส่งขึ้นไปเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนถูกนำกลับมาสู่พื้นโลก เพื่อเพาะเมล็ดเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เดินทางไปอวกาศ ซึ่งได้ผ่านสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศ กับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ ณ โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการแจกจ่ายต้นราชพฤกษ์อวกาศให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อนำไปปลูกและต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต่อไป
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : ว่าที่ ร.ต.ภัทรพล ตันตระกูล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566
จำนวนคนดู: 47