ภาควิชาสรีรวิทยา จัดกิจกรรม Knowing Startup Business ยกทีมอาจารย์-นักศึกษาเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F จุดประกายความคิดเชิงนวัตกรรม ต่อยอดงานวิจัยสู่การทำ Startup

Activity Photo
31 พฤษภาคม 2566 ภาควิชาสรีรวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อาทิตย์ ไชยร้องเดื่อ อาจารย์ ดร.คณิต ภู่ไข่ และ อาจารย์ ดร.เมธนียา ปิลันธนานนท์ พร้อมด้วยนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก รวมกว่า 20 คน เยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ผ่านกิจกรรม Knowing Startup Business ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และจุดประกายความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการพัฒนางานวิจัยจากภาควิชาสรีรวิทยาสู่งานนวัตกรรม ซึ่งสามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ในอนาคตได้ ซึ่งศาสตร์สรีรวิทยาเป็นเป็นสาขาวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่าง ๆ ในสิ่งมีชีวิต ทั้งในด้านกลศาสตร์ ด้านกายภาพ และด้านชีวเคมี ครอบคลุมความรู้ในทุกระดับตั้งแต่ในระดับโมเลกุล ไปจนถึงความรู้ในระดับการทำงานของร่างกาย ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง โดยกิจกรรม Knowing Startup Business กับ SPACE-F ในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และคุณอนุสรา จิตราธนวัฒน์ Government Affair จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมบรรยายเกี่ยวกับโอกาสในการเริ่มต้นเส้นทาง Startup ยกตัวอย่าง Startup ที่ต่อยอดมาจากไอเดียและงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ แนะนำโครงการ SPACE-F ก่อนนำอาจารย์และนักศึกษาทำกิจกรรม Mini-Ideation Workshop ทดลองระดมสมองคิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ และปิดท้ายด้วยการนำเยี่ยมชมสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่โครงการ ณ ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการ SPACE-F เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ก่อนขยายความร่วมมือไปยังเครือข่ายพันธมิตร อาทิ ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด (Deloitte) บริษัท RISE ศูนย์เร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ในเวลาต่อมา เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ FoodTech Startup ในการสร้างนวัตกรรมระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้ Startup ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืนใน 9 ประเด็น ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services
นอกจากโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแล้ว SPACE-F ยังยินดีต้อนรับอาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงหน่วยงานภายนอก เข้ามาร่วมงานกับ Startup ในโครงการ และเยี่ยมชมเพื่อศึกษาดูงานอีกด้วย

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2566