คณะวิทยาศาสตร์จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเป็นนานาชาติ สำหรับนักศึกษานานาชาติในระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอก “International Day: Getting to Know You”

            คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานความร่วมมือระหว่างประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมความเป็นนานาชาติ สำหรับนักศึกษานานาชาติในระดับบัณฑิตศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอกของคณะวิทยาศาสตร์ ภายใต้กิจกรรมชื่อ  “International Day: Getting to Know You”  ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566 ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ ระหว่างเวลา 11.30 – 13.30 น. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ให้การต้อนรับนักศึกษา พร้อมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี ให้เกียรติเข้าร่วมกิจกรรมด้วย

            โดยกิจกรรม “International Day: Getting to Know You”  มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ทำความรู้จักกับนักศึกษา สร้างความคุ้นเคยระหว่างนักศึกษานานาชาติกับเพื่อนนักศึกษาไทย ในระดับบัณฑิตศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ร่วมโครงการวิจัยอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ ให้ได้มีโอกาสสังสรรค์ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ทั้งในด้านการศึกษา การใช้ชีวิตในระหว่างที่ศึกษา กฎเกณฑ์ต่างๆ สำหรับชาวต่างชาติ รวมไปถึงแนวปฏิบัติและวิธีการแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่นักศึกษาพำนักอยู่ในราชอาณาจักรไทย  นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างนักศึกษาต่างชาติและนักวิจัยหลังปริญญาเอก ระหว่างนักศึกษาต่างชาติกับเพื่อนนักศึกษาชาวไทย  และเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและภาษาระหว่างกันด้วย  อีกทั้งยังเป็นการรับฟังปัญญา ความต้องการพื้นฐาน และข้อเสนอแนะ ของนักศึกษาต่างชาติ ต่อคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุปสร้างเป็นแนวนโยบายและการปฏิบัติที่ดี ในการดูแลนักศึกษาต่างชาติได้ด้วย โดยข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาการดูแลและให้บริการนักศึกษาต่างชาติ ที่ได้จากกิจกรรมดังกล่าว อาทิ

1.การขอให้มีการจำหน่ายอาหารฮาลาลในพื้นที่คณะวิทยาศาสตร์เป็นประจำ

2.ให้มีการจัดตั้ง Mahidol Science International Club สำหรับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และนักศึกษาต่างชาติในพื้นที่วิทยาเขตพญาไท

3.จัดให้มีการจัดบรรยายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาต่างชาติด้านต่างๆ เช่น วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ภาษาไทย เป็นต้น

4.ให้มีการจัดตั้ง Journal Club สำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและด้านวิจัยของนักศึกษา เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมบรรยากาศการวิจัยให้นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านการทำวิจัย 

5.แนะนำให้สร้าง Line Group สำหรับการสื่อสารเฉพาะกลุ่มนักศึกษาต่างชาติ และเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด

6.จัดกิจกรรมทัศนศึกษานอกสถานที่สำหรับนักศึกษาชาวต่างชาติตลอดทั้งปี

7.พัฒนารูปแบบการให้บริการแบบ One Stop Service สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของงานแพทยศาสตร์และบัณฑิตศึกษา คณะวิทยาศาสตร์

8.พัฒนาการให้บริการด้านวีซ่า หนังสือเดินทาง และการรายงานตัว 90 วัน สำหรับนักศึกษาต่างชาติ เช่น การบริการรถรับส่งเป็นประจำทุกเดือน การให้งานความร่วมมือระหว่างประเทศ เป็นผู้ช่วยชาวต่างชาติในการลงทะเบียนรายงานตัว 90 วัน ในระบบออนไลน์ ตามระเบียบของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

9.ให้มีการแจ้งกำหนดการกิจกรรมสำหรับนักศึกษา/นักวิจัยหลังปริญญาเอก ล่วงหน้าเพื่อการวางแผนเข้าร่วมกิจกรรมได้ทุกกิจกรรม อย่างน้อยแผนล่วงหน้า 6 เดือน – 1 ปี

เขียนข่าว : นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ นักวิเทศสัมพันธ์
ตรวจสอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นายธีรเทพ แก้วมณี
วันที่ 26 พฤษภาคม 2566