13 พฤษภาคม 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte LOTTE และ Nestlé เดินหน้าคัดเลือก 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารจากนานาชาติ ร่วมโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator Program) ภายใต้โครงการ SPACE-F Incubator รุ่นที่ 5 เพื่อติวเข้มในการพัฒนาต่อยอดไอเดียสู่ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยีของตนเองให้เฉียบคม พร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding และพร้อมออกสู่ตลาด ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ ดร. นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดย ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Group Director, Global Innovation) Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader และ นางสาวอนุสรา จิตราธนวัฒน์, Government Affair, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ และคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม,บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณประทีป ศิริสุขถาวร, บริษัท Lotte Fine Chemical นำโดย Mr.Jaeho Lee, Food and Pharma Development (R&D), บริษัท บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า นำโดย Ms.Jennica Cruz, Corporate Innovation และผู้อำนวยการโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 Mr. Sean Mak และคุณรัชชต เศรษฐ์วรเดช เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานของ Startup 18 ทีม ที่ผ่านมาเข้าสู่รอบสุดท้าย ในการคัดเลือก Startup เข้าสู่โปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator) ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid ณ ห้องประชุมชั้น 10 ศูนย์ประชุม ซี อาเซียน อาคารซีดับเบิ้ลยูทาวเวอร์ รัชดาภิเษก
SPACE-F เป็นโครงการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ FoodTech Startup ในการสร้างนวัตกรรมระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้สตาร์ทอัพค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา
สำหรับโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubator Program) สตาร์ทอัพจะได้รับคำแนะนำในการสร้างและปรับปรุงแผนธุรกิจ จากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในประเทศไทยและต่างประเทศ และรุ่นพี่สตาร์ทอัพในโครงการ รวมถึงอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี พื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน
โดยในรุ่นที่ 5 มีสตาร์ทอัพจากทั่วโลกกว่า 59 ทีม สมัครเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะ ซึ่งในรอบสุดท้ายนี้มีสตาร์ทอัพที่เข้ารอบทั้งหมด 18 ทีม จาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อินเดีย และจีน โดยหนึ่งในผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายนี้ มีสตาร์ทอัพโดยทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทีม NOVELSCIENCE ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืช และอาหารเสริมเพิ่มไฟเบอร์ (Plant-based protein & Fiber dietary supplement) ร่วมนำเสนอผลงานด้วย
ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัว 10 สตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและไอเดียโดดเด่น ซึ่งได้ร่วมโครงการ SPACE-F Batch 5 Incubator Program ในเดือนช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายนนี้ และจะมีการคัดเลือกทีมสตาร์ทอัพจากทั่วโลกสำหรับการเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะหลักสูตรเร่งรัด SPACE-F Batch 5 Acceleration Program ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้สามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมของ SPACE-F ทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech และ https://www.space-f.co/
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รศ. ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 13 พฤษภาคม 2567