อาจารย์คณะวิทย์ ม.มหิดล วิจัยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันคุณภาพต่ำ ลดต้นทุนการผลิตพลังงาน คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 30 พ.ศ. 2566 จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย

8 มีนาคม 2567 ศาสตราจารย์ ดร. ศิวพร มีจู สมิธ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คว้าทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 30 พ.ศ. 2566 ในสาขาเคมี จากมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ที่มอบให้แก่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหรือการพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเทคโนโลยีของประเทศ จำนวน 200,000 บาท ด้วยโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันคุณภาพต่ำโดยใช้คลื่นไมโครเวฟเปรียบเทียบกับคลื่นอัลทราโซนิกส์ และเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และรางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 30 ณ Crystal Hall โรงแรม The Athenee Bangkok

พิธีมอบรางวัลในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้มอบทุนในพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยฯ ครั้งที่ 30 โดยมี ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย มร. อาคิฮิโร นิคคาคุ ประธานบริษัทโทเรอินดัสตรีส์ ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ ประธานคณะกรรมการรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ ประธานคณะกรรมการเงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ ประธานคณะกรรมการรางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ และ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นทีทิพย์ กฤษณามระ ให้เกียรติร่วมพิธี

และในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และ รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับ ศาสตราจารย์ ดร. ศิวพร มีจู สมิธ ผู้ได้รับรางวัลด้วย

โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันคุณภาพต่ำโดยใช้คลื่นไมโครเวฟเปรียบเทียบกับคลื่นอัลทราโซนิกส์ เป็นการศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไบโอดีเซลจากวัตถุดิบที่ไม่เป็นที่ต้องการในการผลิตอาหาร เช่น น้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ซึ่งมีซึ่งมีสิ่งปนเปื้อนแตกต่างกันและมีความเป็นกรดสูง โดยการพัฒนาวัสดุเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธุ์แบบควบคุมสภาพความเป็นกรด-เบส ที่มีอายุการใช้งานยาวนาน เพื่อลดปริมาณกากน้ำมันที่มีโอกาสถูกทิ้งปนเปื้อนดินและแหล่งนี้ธรรมชาติ และมุ่งศึกษาการใช้คลื่นไมโครเวฟหรือคลื่นอัลทราโซนิกส์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบหมุนเวียนในประเทศ และลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพการใช้ไบโอดีเซลแทนเชื้อเพลิงฟอสซิสในภาคขนส่ง และภาคการเกษตร หรือเป็นเชื้อเพลิงแทนวัตถุชีวมวลซึ่งใช้ในโรงงานไฟฟ้าพลังความร้อน ซึ่งมักจะก่อให้เกิดปัญหาการกำจัดเถ้าลอยและเถ้าหนักปริมาณมากอย่างเหมาะสม

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ,
รองศาสตราจารย์ ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 8 มีนาคม 2567