คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม “Mahidol Venture Building for SPACE-F Program” เพื่อเตรียมความพร้อมกับโอกาสที่จะได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F Batch 5

       8 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) พร้อมด้วยเครือข่ายพันธมิตร สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม Mahidol Venture Building for SPACE-F Program ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (พญาไท) และช่องทางออนไลน์ผ่าน IPTV และ FB LIVE

       โดยวัตถุประสงค์หลักของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ อาจารย์ นักวิจัย สตาร์ทอัพ หรือนักศึกษาผู้ที่มีผลงานทางด้าน Food Tech เตรียมความพร้อมกับโอกาสที่จะได้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 หรือ Batch 5 และร่วมพบปะกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งส่งเสริมการนำผลงานวิจัย ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ และสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนสตาร์ทอัพทางด้านอาหาร

       กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม คณะวิทยาศาสตร์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหิดล (iNT) กล่าวต้อนรับ และขอบคุณทีมงานที่ทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้น และหน่วยงานพันธมิตรที่ร่วมผลักดันให้โครงการ SPACE-F นี้ประสบความสำเร็จ

       นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจากวิทยากรพิเศษ มาร่วมแนะนำเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F การสร้างความสัมพันธ์หรือการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเครือข่ายพันธมิตร ไปจนถึงการแบ่งปันประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ Dr. Chris Aurand, Open Inovation Leader บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), ผู้ช่วยศาสตราจาร์ ดร. เมธา มีแต้ม ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ดร. ดลพร แช่แต้ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ภญ.ธนะดา โทมัส CEO and CO-FOUNDER POWCO Thailand, คุณพีรดา ศุภรพันธ์ CEO and CO-FOUNDER Tasted Better (Thailand)

       ซึ่งโครงการ SPACE-F เป็น Food-Tech Startup Incubator และ Accelerator แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการห้องปฏิบัติการพร้อมโปรแกรมให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จากความร่วมมือของผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตรจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และล่าสุด บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับประเทศ ร่วมผนึกกำลังกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการ SPACE-F ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านสถานที่ กว่า 1,000 ตารางเมตร ที่ใช้ในการจัดตั้ง co-working space, co-working office และ co-working lab สำหรับสตาร์ทอัพที่มาบ่มเพาะในโครงการ SPACE-F ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จนถึงรุ่นที่ 5 ในปัจจุบันนี้ ที่วิทยาเขตพญาไท

       ร่วมไปถึงหน่วยการให้บริการวิชาการ (Academic services) ให้แก่สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการฯ ในเรื่องบริการด้านงานวิเคราะห์ตัวอย่าง การวิเคราะห์เพื่อการวิจัยและพัฒนา R&D ของสตาร์ทอัพเพื่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ และตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้ในปัจจับัน อีกทั้งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีทีมผู้ที่เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาที่พร้อมให้คำปรึกษาและคำแนะนำ (Consulting service)  เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่

       ที่ผ่านมาโครงการได้สร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว 4 รุ่น รวมถึงให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเปิดมุมมองในการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานสู่นวัตกรรมอีกด้วย โดยในปีนี้ โครงการ SPACE-F ที่จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 5 (SPACE-F Batch 5) น่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งและสอดคล้องกับกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการร่วมมือในรูปแบบนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน  (Public-Private Partnership) ในโครงการ SPACE-F ให้มากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการ SPACE-F Batch 5 ได้ที่ https://www.space-f.co/ และ https://www.facebook.com/spaceffoodtech 

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 8 มีนาคม 2567