คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมรับฟังสัมมนาเรื่อง “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” โดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา

        วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ. ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ และ รศ.ดร.สมบัติ ธนะวันต์ เข้าร่วมรับฟังสัมมนาเรื่อง “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” โดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านยางพาราของประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อเสนอในเชิงนโยบาย และโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน และเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหายางพาราของประเทศไทย เกิดการรวมพลังอย่างแท้จริงเชิงระบบในทุกระดับ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับชาติและระดับสากลต่อไป

        โดยได้รับเกียรติจาก ประธานคณะกรรมาธิการฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวเปิดงานว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว กมธ.ได้จัดสัมมนาในเรื่องการวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับการใช้ยางพารา เพื่อนำไปสู่การใช้งานได้มากขึ้น โดยดำเนินการมาในลักษณะของช่วงต้นทางและกลางทาง ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเติมระหว่างกลางทางสู่ปลายทาง เพื่อไปบรรลุในเรื่องเชิงพาณิชย์ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงความต้องการของท้องตลาด นำไปสู่การใช้งานในหลายรูปแบบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชาวสวนยางและผู้ประกอบการต่างๆ  รวมถึงสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนต่อไป

        ต่อด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและอดีตรองนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” นายพินิจ จารุสมบัติ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องห่วงโซ่อุปทานยางพารา โดยเรื่มจากต้นน้ำได้แก่ น้ำยางสด, ยางก้อนถ้วย, ยางแผ่นดิบ, เศษยาง/ขี้ยาง, ไม้ยางพารา ไปจนถึงปลายน้ำได้แก่ ยางรถยนต์, รองเท้า, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น และข้อมูลปริมาณผลผลิตยางพาราของโลก ที่มีประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก สัดส่วนประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด 

        ในช่วงเวลา 10:00-10:20 น. เป็นการบรรยายในเรื่อง “สถานการณ์ยางพาราไทยกับบทบาทของการยางแห่งประเทศไทย” โดย นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย โดยกล่าวถึงผลผลิตยางพาราไทยใน 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2564 มีปริมาณลดลงเล็กน้อยทุกปี โดยในปี 2566 ผลผลิตลดลงร้อยละ 1.7 จากปีก่อนหน้า และสำหรับในปี 2567 คาดว่าผลผลิตจะลดลงเช่นกัน โดยเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปรากฏการเอลนีโญ่ ประกอบกับโรคใบร่วง โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทย ทำให้ผลผลิตออกน้อย ซึ่งสวนทางกับการใช้ยางพาราไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.65 และคาดว่าในปี 2567 จะมีแนวโน้มการใช้สูงขึ้นอีกเป็นผลจากนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยางในประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ต่อด้วยการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารา ได้แก่

 

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารากับโจทย์ Demand & Supply ในปัจจุบันและอนาคต

ดำเนินการอภิปรายโดย
อาจารย์อัยยพร ขจรไชยกูล
ที่ปรึกษารองอธิการบดีผ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย

  1. รองศาสตราจารย์ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี
    ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  2. นายไพโรจน์ จิตรธรรม
    ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  3. นายชวินทร์ ศรีโชติ
    กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอส. อุตสาหกรรมยาง
  4. นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู
    รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

     

จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย

ดำเนินการอภิปรายโดย
อาจารย์อัยยพร ขจรไชยกูล
ที่ปรึกษารองอธิการบดีผ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย

  1. นางพรพรรณนิล ศตวรรษธำรง
    ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร (กษ.)
  2. นายกิตติธัช ณ วาโย
    ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราไทย

          ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการและการนำเสนอผลงานการวิจัยและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าร่วม

Activity Photo

ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าวโดย: นายธีรเทพ แก้วมณี
ภาพข่าวโดย: นายจิรภัทร เอี่ยมเจริญลาภ
เว็บมาสเตอร์: นายธีรเทพ แก้วมณี
วันที่ 8 มีนาคม 2567