วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ. ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ และ รศ.ดร.สมบัติ ธนะวันต์ เข้าร่วมรับฟังสัมมนาเรื่อง “โจทย์วิจัยและนวัตกรรมกับการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” โดยคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด และส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านยางพาราของประเทศไทย เพื่อให้ได้ข้อเสนอในเชิงนโยบาย และโครงสร้างการบริหารจัดการทั้งระบบ เพื่อเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์ในการดำเนินการอย่างยั่งยืน และเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้แก้ไขปัญหายางพาราของประเทศไทย เกิดการรวมพลังอย่างแท้จริงเชิงระบบในทุกระดับ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเกิดการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานระดับชาติและระดับสากลต่อไป
โดยได้รับเกียรติจาก ประธานคณะกรรมาธิการฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง กล่าวเปิดงานว่า เมื่อปลายปีที่แล้ว กมธ.ได้จัดสัมมนาในเรื่องการวิจัยนวัตกรรมเกี่ยวกับการใช้ยางพารา เพื่อนำไปสู่การใช้งานได้มากขึ้น โดยดำเนินการมาในลักษณะของช่วงต้นทางและกลางทาง ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเติมระหว่างกลางทางสู่ปลายทาง เพื่อไปบรรลุในเรื่องเชิงพาณิชย์ในการทำให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราตรงความต้องการของท้องตลาด นำไปสู่การใช้งานในหลายรูปแบบ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชาวสวนยางและผู้ประกอบการต่างๆ รวมถึงสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนต่อไป
ต่อด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษโดย นายพินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและอดีตรองนายกรัฐมนตรี เรื่อง “การสร้างนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยางพาราไทยสู่เชิงพาณิชย์” นายพินิจ จารุสมบัติ ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจในเรื่องห่วงโซ่อุปทานยางพารา โดยเรื่มจากต้นน้ำได้แก่ น้ำยางสด, ยางก้อนถ้วย, ยางแผ่นดิบ, เศษยาง/ขี้ยาง, ไม้ยางพารา ไปจนถึงปลายน้ำได้แก่ ยางรถยนต์, รองเท้า, อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น และข้อมูลปริมาณผลผลิตยางพาราของโลก ที่มีประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอันดับ 1 ของโลก สัดส่วนประมาณ 30% ของการผลิตทั้งหมด
ในช่วงเวลา 10:00-10:20 น. เป็นการบรรยายในเรื่อง “สถานการณ์ยางพาราไทยกับบทบาทของการยางแห่งประเทศไทย” โดย นายโกศล บุญคง รองผู้ว่าการด้านธุรกิจ การยางแห่งประเทศไทย โดยกล่าวถึงผลผลิตยางพาราไทยใน 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2564 มีปริมาณลดลงเล็กน้อยทุกปี โดยในปี 2566 ผลผลิตลดลงร้อยละ 1.7 จากปีก่อนหน้า และสำหรับในปี 2567 คาดว่าผลผลิตจะลดลงเช่นกัน โดยเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ปรากฏการเอลนีโญ่ ประกอบกับโรคใบร่วง โดยเฉพาะในภาคใต้ของไทย ทำให้ผลผลิตออกน้อย ซึ่งสวนทางกับการใช้ยางพาราไทยที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.65 และคาดว่าในปี 2567 จะมีแนวโน้มการใช้สูงขึ้นอีกเป็นผลจากนโยบายที่สนับสนุนการใช้ยางในประเทศ ซึ่งอาจทำให้มีความต้องการการใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ต่อด้วยการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารา ได้แก่
ผลงานวิจัยและนวัตกรรมยางพารากับโจทย์ Demand & Supply ในปัจจุบันและอนาคต
ดำเนินการอภิปรายโดย
อาจารย์อัยยพร ขจรไชยกูล
ที่ปรึกษารองอธิการบดีผ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย
- รองศาสตราจารย์ ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี
ผู้อำนวยการสถาบันการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - นายไพโรจน์ จิตรธรรม
ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมการแปรรูปยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ - นายชวินทร์ ศรีโชติ
กรรมการผู้จัดการ บริษัท วี.เอส. อุตสาหกรรมยาง - นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
จากงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ยางพาราไทย
ดำเนินการอภิปรายโดย
อาจารย์อัยยพร ขจรไชยกูล
ที่ปรึกษารองอธิการบดีผ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยมีผู้ร่วมอภิปราย ประกอบด้วย
- นางพรพรรณนิล ศตวรรษธำรง
ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าสินค้าเกษตร (กษ.) - นายกิตติธัช ณ วาโย
ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราไทย
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการและการนำเสนอผลงานการวิจัยและนวัตกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาเข้าร่วม
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เขียนข่าวโดย: นายธีรเทพ แก้วมณี
ภาพข่าวโดย: นายจิรภัทร เอี่ยมเจริญลาภ
เว็บมาสเตอร์: นายธีรเทพ แก้วมณี
วันที่ 8 มีนาคม 2567