iNT ร่วมกับคณะวิทย์ ม.มหิดล จัดโครงการอบรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ภายใต้ TRIUP Act ทำความเข้าใจ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ชี้แนวทางผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง

Activity Photo
8 มีนาคม 2566 สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการอบรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ภายใต้ TRIUP Act (TRIUP Act & Technology Commercialization) เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมไปถึงกฎหมายลำดับรอง และประกาศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของ ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ (Intellectual Property) ในยุคสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge based economy) ในปัจจุบัน ที่ทุกประเทศพยายามพัฒนานวัตกรรมและสร้างทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และเพื่อจุดประกายสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษามองถึงโอกาสในการนำผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัย ไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและประโยชน์ต่อสาธารณชน
ในครั้งนี้ โครงการอบรมฯ ได้รับเกียรติจาก 3 ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) คุณวิกรานต์ ดวงมณี Head of Intellectual Property Management บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) และคุณพิเชษฐ์ ธนพงศ์จงรวย เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา จำนวนกว่า 50 คน ณ ห้องประชุมอาคารสตางค์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยในโอกาสอันดีนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ได้ให้เกียรติเข้าร่วมพิธีเปิดการอบรม

รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ได้กล่าวขอบคุณคณะวิทยาศาสตร์และผู้มีส่วนร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ และกล่าวว่า หวังว่าการอบรมจะช่วยสร้างความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้เข้าร่วมอบรมทั้งในการวิจัยสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ สร้างความร่วมมือ รวมถึงการขอทุนวิจัยจากองค์กรต่าง ๆ และช่วยเปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้กำกับนโยบาย และนักวิจัยผู้สร้างนวัตกรรม ช่วยสร้างเครือข่าย และเสริมสร้างสัมพันธภาพความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัย สถาบันฯ อาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรที่ปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งหากคณะหรือสถาบันภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดลมีประเด็นในการพัฒนาเทคโนโลยี การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม iNT ยินดีรับฟังและให้ความช่วยเหลือเสมอ ทั้งนี้ iNT ตั้งใจจะจัดโครงการอบรมการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ภายใต้ TRIUP Act ให้ครอบคลุมคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดลต่อไปในอนาคต

สำหรับการบรรยายเริ่มต้นด้วย คุณวิกรานต์ ดวงมณี Head of Intellectual Property Management บริษัทเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) บรรยายในหัวข้อ “FTO101 : Freedom To Operate 101 สำคัญอย่างไร ?” จากนั้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงบรรยายในหัวข้อ “สรุปสาระสำคัญ พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP ACT)” ปิดท้ายด้วยคุณพิเชษฐ์ ธนพงศ์จงรวย เจ้าหน้าที่ทรัพย์สินทางปัญญา สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยายและนำผู้เข้าร่วมการอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในหัวข้อ “บทบาทของมหาวิทยาลัยกับการดำเนินงานตาม พรบ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP ACT)”
สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากทรัพย์สินทางปัญญา งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงได้มีการจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีแนวทางที่จะผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ (Technology commercialization) ด้วยหลายรูปแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการทำวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือการต่อยอดผลการวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมโดยเชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามา Licensing technology จากมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งที่ผ่านมาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมมือกับ iNT ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริม Startup ในระดับมหาวิทยาลัย รวมไปถึงระดับประเทศและสากล ได้แก่ โครงการ Mahidol Pre-Incubation for SPACE-F และโครงการ SPACE-F Batch 4 เป็นต้น

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย: นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 8 มีนาคม 2566