คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุมลงนามรับรองความร่วมมือ โครงการ SATREPS มุ่งพัฒนา BCG Economy ภายใต้การสนับสนุนโดย JICA และ JST

ภาพประกอบ

          29 มีนาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและสังคมสัมพันธ์ ผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมเป็นสักขีพยานในการประชุมลงนามรับรองความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและญี่ปุ่น นำโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และพันธมิตร 8 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) และธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (NBT) เข้าร่วมโครงการวิจัยแบบบูรณาการ

          โครงการ SATREPS ได้รับทุนวิจัยในหัวข้อ Development of Duckweed and Associated  Microbial Resource Values Towards Bio-Circular-Green (BCG) Economy โดยมีนักวิจัยหลัก นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อรินทิพย์ ธรรมชัยพิเนต จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ Prof. Masaaki Morikawa จาก Hokkaido University ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงและสร้างผลิตภัณฑ์อาหารจาก ไข่น้ำหรือผำ (Wolffia) พืชตระกูลแหน (Duckweed) ที่มีโปรตีนสูง และผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Green Farm เข้าร่วมในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ และเป็นหนึ่งในทีมวิจัยด้วย

          โครงการวิจัยแบบบูรณาการที่อาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ มุ่งพัฒนาให้แหน (Duckweed) และ ไข่น้ำ (Wolffia) ซึ่งเป็นพืชดอกที่โตเร็วที่สุดในโลก สามารถเจริญเติบโตร่วมกับการใช้บำบัดน้ำเสีย เพาะเลี้ยงด้วยทรัพยากรต่ำ และลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ นอกจากนั้น ยังค้นหาสารออกฤทธิ์สำคัญในแหน รวมถึงการใช้ประโยชน์ทั้งในรูปอาหาร พลังงาน Biomass และ Green Materials ต่าง ๆ ด้วย ไข่น้ำหรือผำ (Wolffia) มีการบริโภครวมถึงการเพาะเลี้ยงเพื่อการค้าในประเทศไทยอยู่แล้ว ดังนั้น ทีมวิจัยจึงหวังผลักดันโครงการวิจัยนี้ ขึ้นไปจนถึงการเป็นอาหารแห่งอนาคต และเป็นโมเดลต้นแบบของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ตามนโยบายของรัฐบาล ได้อย่างครบวงจร

ภาพประกอบ
ภาพประกอบ

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.รุจเรขา วิทยาวุฑฒิกุล
ภาพข่าวโดย: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 29 มีนาคม 2564