มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทย์ฯ และ iNT ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE และ Nestlé เดินหน้าคัดเลือก 20 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารจากนานาชาติร่วมโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ SPACE-F Incubator รุ่นที่ 6

28 มีนาคม 2568 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE และ Nestlé เดินหน้าคัดเลือก 20 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารจากนานาชาติ ร่วมโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator Program) ภายใต้โครงการ SPACE-F Incubator รุ่นที่ 6 เพื่อติวเข้มในการพัฒนาต่อยอดไอเดียสู่ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ ๆ ในตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก และเตรียมความพร้อมในการระดมเงินทุนในระดับ Series A และ Seed Funding เพื่อพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในระดับสากล

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และรองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะกรรมการโครงการ SPACE-F พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณธวัช สุธาสินีนนท์ (Director of Global Innovation Center), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ และ ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณประทีป ศิริสุขถาวร, บริษัท บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า นำโดย คุณ Jennica Cruz, Corporate Innovation และผู้อำนวยการโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 คุณ Sean Mak เข้าร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานของ Startup 20 ทีม ที่ผ่านมาเข้าสู่รอบสุดท้าย ในการคัดเลือก Startup เข้าสู่โปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator) ผู้ประกอบการเทคโนโลยีอาหาร ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบ Hybrid ณ Fourpoint by Sheraton Ploenchit

SPACE-F เป็นโครงการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ FoodTech Startup ในการสร้างนวัตกรรมระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้สตาร์ทอัพค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ Health & Wellness, Alternative proteins, Novel food & Ingredients, Packaging solutions, Biomaterials & Chemicals, Packaging solutions, Smart Manufacturing, Restaurant Tech, Food safety & Quality และ Smart food services ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา

สำหรับโปรแกรมบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Incubator Program) สตาร์ทอัพจะได้รับคำแนะนำในการสร้างและปรับปรุงแผนธุรกิจ จากผู้เชี่ยวชาญจากภาคเอกชนในประเทศไทยและต่างประเทศ และรุ่นพี่สตาร์ทอัพในโครงการ รวมถึงอาจารย์และนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้คำปรึกษาและสนับสนุนด้านเทคโนโลยี พื้นที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน

โดยในรุ่นที่ 6 มีสตาร์ทอัพจากทั่วโลกกว่า 50 ทีม สมัครเข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะ ซึ่งในรอบสุดท้ายนี้มีสตาร์ทอัพที่เข้ารอบทั้งหมด 20 ทีม จาก 9 ประเทศ อาทิ ไทย สิงคโปร์ จีน สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อังกฤษ อินเดีย อิสราเอล ตุรเคีย โดยมีสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยมหิดลถึง 2 ทีม ได้แก่ ทีม SmartHealF นำโดย ศ. นพ.จุมพล วิลาศรัศมี ภาควิชาศัลยศาสตร์ และศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (MIND Center) ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่ผสมผสานเข้ากับข้อมูลเชิงลึกจากทั้งการแพทย์และวิทยาศาสตร์การอาหารสำหรับผู้ป่วย ในการช่วยประเมินสภาพการหายจากบาดแผล คาดการณ์ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น พร้อมแนะนำโภชนาการส่วนบุคคล เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากการบาดเจ็บได้รวดเร็วขึ้น และทีม Bionano solution นำโดย รศ. ดร.กัลยา เกตุวงศา ภาควิชาชีวเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้พัฒนา NanoBoozt เทคโนโลยีนาโนแคปซูล ที่สามารถเปลี่ยนวิตามิน สารสกัดจากพืช หรือสารสกัดอื่น ๆ ที่มีความเสถียรและละลายน้ำได้ต่ำ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงพร้อมความสามารถในการดูดซึมเพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพที่ดีขึ้น ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือกครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัว 10 สตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีและไอเดียโดดเด่น ซึ่งได้ร่วมโครงการ SPACE-F Batch 6 Incubator Program ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ,
นางสาวพูนทรัพย์ มหานันทโพธิ์,
นางสาวนาถประภา หน่อนิล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 28 มีนาคม 2568