คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับ Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE นำ 8 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร โชว์นวัตกรรมสุดล้ำใน SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day

Activity Photo

24 มิถุนายน 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte LOTTE นำ 8 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในโปรแกรมเร่งการเติบโต ภายใต้โครงการ SPACE-F Accelerator รุ่นที่ 4 ร่วมนำเสนอผลงานแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech บนเวที SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ในงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2023 (SITE2023) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี และรองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ กรรมการโครงการ SPACE-F และผู้บริหารสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ SPACE-F และพันธมิตร ได้แก่ ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม (Group Director, Global Innovation) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (Executive Vice President, and Chief Sustainability and Strategy) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณดนัย ครามโกมุท Assistant Vice President-Channels Business Development บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และ Mr. Jeff, Jaho Lee Director of R&D, Lotte Fine Chemical พร้อมด้วยทีมทำงานในโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 4 ได้แก่ Dr. Magnus Bergkvist, Head of Science & Research Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead และคุณอนุสรา จิตราธนวัฒน์ Government Affair จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค และคุณอรุณี แปลงนาม นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ เข้าร่วมงาน

โครงการ SPACE-F ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี พ.ศ. 2562 ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีภาคเอกชนให้ความสนใจร่วมมือเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็น Corporate Partner และมีการขยายความร่วมมือในส่วนของ Supporting Partners ร่วมกับ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup ecosystem) ของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน และเพื่อปั้น Food Tech Startup ในประเทศไทยให้สามารถไปสู่ระดับโลกได้ มีโปรแกรมบ่มเพาะและโปรแกรมเร่งการเติบโตทางธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร โดยเป็นโครงการแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการดึงดูด Food Tech Startup ต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ เปรียบเสมือนประตูเข้าสู่ตลาดประเทศไทยและตลาดโลก
สตาร์ทอัพภายใต้โครงการ SPACE-F Accelerator รุ่นที่ 4 นั้นได้เข้าร่วมโปรแกรมเร่งการเติบโตเป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจและพัฒนานวัตกรรมร่วมกับบริษัทคู่ค้า สร้างความร่วมมือและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารในประเทศไทย ซึ่งสตาร์ทอัพทั้ง 8 ทีม จาก 6 ประเทศ ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านอาหารเพื่อสุขภาพ (Health and wellness), ด้านโปรตีนทางเลือก (Alternative proteins), ด้านส่วนผสมและอาหารใหม่ (Novel food and ingredients), ด้านวัสดุชีวภาพและสารเคมี (Biomaterial and chemical) และด้านการตรวจสอบควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร (Food safety and quality) ซึ่งผ่านการติวเข้มเพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนานวัตกรรมของตนเองอย่างเข้มข้น และนำเสนอผลงานนวัตกรรมบนเวทีจาก 8 สตาร์ทอัพ ได้แก่

• AlgaHealth (อิสราเอล): ผู้คิดค้นและผลิตอาหารเสริมสารสกัด Fucoxanthin จากสาหร่าย :ซึ่งมีส่วนช่วยในการลดไขมันในเลือด
• AmbrosiaBio (อิสราเอล): ผู้พัฒนาและออกแบบสารทดแทนน้ำตาลที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคอ้วน หรือเบาหวาน โดยไม่ทำให้รสชาติเปลี่ยนแปลง
• Lypid (สหรัฐอเมริกา): ไขมันจากพืชสำหรับการผลิตโปรตีนทดแทนที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับเนื้อสัตว์
• MOA (สเปน): ผู้พัฒนาและผลิตแหล่งโปรตีนใหม่ ๆ อย่างยั่งยืนจากการ Upcycling วัตถุดิบจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
• Pullulo (สิงคโปร์): ผู้ผลิตโปรตีนทดแทน จากการ Upcycling วัตถุดิบจากภาคการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีการหมัก (Fermentation technology)
• Seadling (มาเลเซีย และสิงคโปร์): ผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยงผลิตจากสาหร่าย
• TeOra (สิงคโปร์): ผู้คิดค้นเทคโนโลยีที่ช่วยป้องกันโรคและส่งเสริมการเจริญเติบโตของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
• The Leaf Protein Co. (ออสเตรเลีย): ผู้สร้างและผลิตโปรตีนทดแทนจากใบไม้ด้วยกรรมวิธีที่ยั่งยืน

ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวในงานนี้ว่า มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย คณะวิทยาศาสตร์ มีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพการเติบโต และการแข่งขันของ Food-Tech Startups ในการสร้างนวัตกรรมระดับครัวไทยสู่ครัวโลก โดยเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพในโครงการ ช่วยให้สตาร์ทอัพค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก และขอขอบคุณ SPACE-F ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความคิดเชิงนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นแนวทางในการคิดค้นงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่สามารถต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นได้ในอนาคตตั้งแต่ในระดับมหาวิทยาลัย
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมมากถึง 400 กว่าคน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้บริหาร และพนักงานจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน นักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งไทย และต่างประเทศ และผู้เข้าร่วมอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจ นับเป็นความสำเร็จของ SPACE-F Batch 4 Accelerator Demo Day ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพภายใต้โครงการได้เปิดตัวต่อเครือข่ายคู่ค้า เพื่อเชื่อมโยงความเป็นไปได้ และโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

และสำหรับโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ หรือ Incubator Program ซึ่งมีทีม NutriCious สตาร์ทอัพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเข้าร่วมโครงการฯ ด้วย จะมีการนำเสนอผลงานในงาน SPACE-F Batch 4 Incubator Demo Day ที่จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ สามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 24 มิถุนายน 2566