5 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา 4 สถาบันภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในการผลิตโฟมพีอีเอส (Expanded Polystyrene Foam: ESP) เชื้อเพลิงในเหตุระเบิดโรงงานผลิตโฟม ซอยกิ่งแก้ว 21 พร้อมเสนอความเห็นเบื้องต้นด้านการจัดการปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวอย่างยั่งยืน จากมุมมองคนในแวดวงสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการสาธารณสุข ในงานเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ถอดบทเรียน “ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว” โดยมี รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ รศ. ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร และมี รศ. ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการตลอดการเสวนา ถ่ายทอดสดผ่านทาง Cisco Webex และ Facebook live ซึ่งมีผู้สนใจรับชมรวมกว่า 247 คน
รศ. ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นของ “สไตรีนโมโนเมอร์ (Styrene monomer)” สารตั้งต้นในการผลิตโฟมว่าเป็นสารเคมีที่เป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง จุดหลอมเหลว -30 องศาเซลเซียส จุดเดือด 145 องศาเซลเซียส มีความหนาแน่น 0.91 g/cm3 ซึ่งมีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ เมื่อเร่งให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ก็จะขยายตัวกลายเป็นโฟมพีอีเอส หากมีการเผาไหม้สมบูรณ์ก็จะได้สารคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แต่ถ้าเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ก็จะเห็นเป็นควันสีดำซึ่งมีสารคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO2) ที่จะไปแย่งออกซิเจนจับกับฮีโมโกลบินซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนได้
ซึ่งในกรณีนี้ รศ. ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ได้กล่าวถึงสถานการณ์นี้ว่าสารเคมีที่น่ากังวล ไม่ได้มีเพียงแค่สารสไตรีนโมโนเมอร์ ซึ่งในสัตว์ทดลองพบว่าเป็นสารก่อมะเร็ง คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO) จากการเผาไหม้ที่เป็นเหตุทำให้หมดสติจากการขาดออกซิเจน ยังมีเบนซีน (Benzene) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและจัดเป็นสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds) หรือ VOCs ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์มากกว่าด้วย
นอกจากนั้น รศ. ดร.สราวุธ เทพานนท์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เสริมว่าในฝุ่นควันเคมีจะพบโพลีไซคลิกอะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) หรือ PAHs ซึ่งเป็นสารอันตรายต่อสุขภาพที่สำคัญอีกหนึ่งตัว และได้กล่าวถึงการแพร่กระจายของฝุ่นควันเคมีว่า เนื่องจากการฝุ่นควันจากการระเบิดนั้นลอยตัวขึ้นสูงและแพร่กระจายไปตามทิศทางลม จึงไม่สามารถวัดค่าสารเคมีต่าง ๆ ที่ปนเปื้อนในอากาศเป็นรัศมีวงกลมเหมือนกับอันตรายจากความร้อนและการระเบิดได้ จากแบบจำลองพยากรณ์การเคลื่อนตัวของอากาศ ซึ่งได้รับการอนุเคราะห์จัดทำขึ้นโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่าทิศทางของลมจะพัดกลุ่มฝุ่นควันไปจากทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออก จากนั้นพัดจากทิศใต้และทิศเหนือ ดังนั้นควรจะมีการตรวจวัดตามกระแสลมไปเรื่อย ๆ เพื่อดูระดับสารพิษเทียบกับค่าระดับความเข้มข้นแบบเฉียบพลัน และแจ้งเตือนอันตรายต่อไป โดยสำหรับสไตรีนจะก่อความเป็นพิษเฉียบพลันที่ 100 ppm และถึงแม้จะสัมผัสในปริมาณ 0.06 ppm ต่อเนื่อง 1-2 วัน ก็เป็นอันตรายเช่นกัน โดยปกติองค์การอนามัยโลก WHO ระบุว่าสไตรีนในอากาศควรอยู่ต่ำกว่าระดับที่จมูกได้กลิ่น หรือต่ำกว่า 0.016 ppm
ในส่วนของวิธีการดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น รศ. นพ.สัมมน โฉมฉาย ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ศูนย์พิษวิทยาศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้แนะนำถึงวิธีการดูแลตนเองสำหรับผู้อาศัยอยู่ในชุมชนที่อยู่ในเขตการแพร่กระจายของกลุ่มฝุ่นควันเคมี อาจมีอาการตาแดง แสบตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดประมาณ 15 นาที ผู้ที่ใส่คอนแทคเลนส์ควรถอดออก จากนั้นล้างตาด้วยน้ำสะอาด ส่วนอาการระคายเคืองผิวหนัง ให้อาบน้ำล้างตัวด้วยสบู่ กรณีเป็นผื่นสามารถใช้ครีมที่มีสเตียรอยด์ทาได้ หากแสบจมูก การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยชะล้างอนุภาคฝุ่นออกมาซึ่งลดการอักเสบได้ ถ้ามีอาการไอ ระคายเคืองทางเดินหายใจสามารถทานยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการ เปิดเครื่องกรองอากาศที่ไส้กรองมีคาร์บอนที่มีชาร์โค ซึ่งมีหลักฐานว่าพอช่วยลด VOCs ได้บ้าง หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสารพิษสามารถติดต่อศูนย์พิษวิทยาได้ตลอด 24 ชั่วโมงสำหรับผู้ปฏิบัติงานควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปควรจะต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันตัวเอง หรือ PPE ให้เหมาะกับสารเคมีในพื้นที่ ในกรณีนี้อาจจะต้องมีหน้ากากที่ป้องกันสารระเหยได้
ท้ายที่สุดเหตุการณ์ครั้งนี้จะไม่ใช่เพียงแค่การจัดการสารพิษปนเปื้อนในอากาศเท่านั้น แต่ต้องคำนึงไปถึงเหตุการณ์ต่อจากนี้ซึ่งมีโอกาสที่ฝนจะตกในเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลสูง ส่งผลให้ฝุ่นควันเคมีตกลงมาพร้อมกับฝนปนเปื้อนลงสู่ดิน น้ำ และอนาคตอาจจะพบว่าปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนั้นโรงงานอุตสาหกรรมควรมีการประเมินความเสี่ยงและสถานการณ์เลวร้ายอย่างแท้จริงเพื่อหาวิธีรับมือที่เหมาะสม โดยควรเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ควบคู่ไปกับการให้ความรู้คนในชุมชนเกี่ยวกับสารเคมีในโรงงาน และยังควรมีการให้ความรู้เรื่องสารพิษกับบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี IoT หรือ Internet of Things ช่วยในเฝ้าระวังการรั่วไหลของสารเคมีเป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมเทปบันทึกการเสวนาพิเศษย้อนหลังได้ทาง Youtube Mahidol Science Channel https://youtu.be/Yxbd5HEqNpg
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวจิรนันท์ นามั่ง
วันที่ 8 กรกฎาคม 2564