คณะวิทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการทดสอบอัจฉริยภาพทางชีววิทยาระดับมัธยมปลาย Bioism 2 เปิดบ้านต้อนรับนักเรียนจำนวนกว่า 1,375 คน เข้าประลองความรู้ทางชีววิทยา

17 – 18 กุมภาพันธ์ 2567 ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยนักศึกษาภาควิชาชีววิทยา ในนามสโมสรนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการทดสอบอัจฉริยภาพทางชีววิทยาระดับมัธยมปลาย (Bioism) ครั้งที่ 2 โดยมีนักเรียนมัธยมศึกษาทั่วประเทศสมัครร่วมกิจกรรมกว่า 1,726 คน และเข้าร่วมแข่งขันประลองความรู้จำนวน 1,375 คน พร้อมร่วมกิจกรรมเรียนรู้ระบบในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและการประยุกต์ใช้อย่างยั่งยืน ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

โครงการทดสอบอัจฉริยภาพทางชีววิทยาระดับมัธยมปลาย หรือ Bioism เป็นการทดสอบความรู้ด้านชีววิทยาโดยมีพื้นฐานจากหนังสือเรียน สสวท. ระดับมัธยมปลาย ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับมัธยมปลายที่สนใจทางด้านชีววิทยาได้มีโอกาสทดสอบทักษะความรู้ทางวิชาการ เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ รวมถึงแนะนำหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนั้นยังเป็นการฝึกทักษะการทำงานร่วมกันของนักศึกษาสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกด้วย

ในปีนี้โครงการจัดขึ้นภายใต้แนวคิดโลกใต้ทะเล โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท ยูเนี่ยน ฟอร์ม พริ้นติ้ง จำกัด, บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้เทค จำกัด, บริษัท บุญรอด เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท แลคตาซอย จำกัด, สำนักพิมพ์กัมบัตเตะ, บริษัท ยูโนเต็ดฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และคุณบุญโสม อภิบุณโยภาส

การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกเป็นการสอบรอบคัดเลือก ในวันเสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ในช่วงเช้า ซึ่งมีผู้ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 58 คน ต่อด้วยฐานกิจกรรม 4 ฐาน ที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียนผู้เข้าแข่งขันในรอบคัดเลือกทั้งหมดได้เปิดโลกการเรียนรู้ชีววิทยาในหัวข้อต่าง ๆ ตามความสนใจ ได้แก่

1. กิจกรรม La-croc (codile) dissection โดยภาคชีววิทยา ซึ่งสาธิตการผ่าจระเข้อย่างใกล้ชิด โดยอาจารย์และพี่ ๆ นักศึกษาที่ผ่านการเรียนรายวิชา vertebrate

2. กิจกรรม The real human anatomy โดยภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ซึ่งเปิดให้น้อง ๆ ได้เยี่ยมชมร่างอาจารย์ใหญ่ร่างจริง และได้ศึกษา anatomy ของร่างกายมนุษย์ใน 7 ระบบ

3. กิจกรรม lab visit and scents of life โดยหลักสูตรทรัพยากรชีวภาพและชีววิทยาสภาวะแวดล้อม (นานาชาติ) ซึ่งเปิดให้น้อง ๆ ได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการ พร้อมสนุกไปกับการแยกแยะกลิ่นที่คุ้นเคย

4. กิจกรรม botanical-ling you พานั่งรถรางชมสวนสมุนไพร และชมธรรมชาติอันงดงามในอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

จากนั้นจึงเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีผู้ผ่านรอบคัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 56 คน โดยทำการสอบทั้งภาคปฏิบัติการและภาคทฤษฎี แล้วจึงเข้าสู่พิธีปิด ซึ่งได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญ อารยะธนิตกุล รักษาการแทนรองคณบดีฝ่ายการศึกษาและกิจการนักศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้แทนคณบดี กล่าวปิดการแข่งขัน และ อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ และหัวหน้าภาควิชาชีววิทยา พร้อมด้วยคณาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ให้เกียรติร่วมพิธี มอบรางวัลแก่ผู้ชนะ และมอบเกียรติบัตรแก่นักเรียนที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศ
นายอาชวิณ กิตติรัตนไพบูลย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ได้รับโล่ และเงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญ อารยะธนิตกุล เป็นผู้มอบรางวัล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
นางสาวไอริณ อินทรทัต โรงเรียนชลราษฎรอำรุง
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 8,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ขวัญ อารยะธนิตกุล เป็นผู้มอบรางวัล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
นายศรัณย์ อยู่ร่วมใจ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 6,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง เป็นผู้มอบรางวัล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3
นายฆฤต โชติวรรณพร โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 4,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน เป็นผู้มอบรางวัล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 4
นายศุภกร เล่งเวหาสถิตย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 2,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรวิทย์ สิตปรีชา เป็นผู้มอบรางวัล

รางวัลผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบแต่ละหัวข้อ

Part l: Cell Biology and Genetics
นายอาชวิณ กิตติรัตนไพบูลย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สุรางค์ ชาญกำแหงเดชา เป็นผู้มอบรางวัล

Part ll: Animal Anatomy and Physiology
นายศุภกร เล่งเวหาสถิตย์ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.นภัทร รัตน์นราทร เป็นผู้มอบรางวัล

Part lll: Plant Anatomy and Physiology
นายอาชวิณ กิตติรัตนไพบูลย์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฐิตินันท์ สำราญวานิช เป็นผู้มอบรางวัล

Part lV: Ecology and Environment
ายฆฤต โชติวรรณพร โรงเรียนราชวินิตบางแก้ว
ได้รับเงินรางวัลจำนวน 1,000 บาท และของที่ระลึก
โดยได้รับเกียรติจาก อาจารย์ ดร.วรุฒ ศิริวุฒิ เป็นผู้มอบรางวัล

การสอบในครั้งนี้จะช่วยให้นักเรียนที่เข้าร่วมได้รับความรู้ รวมถึงเพิ่มพูนทักษะจากการแข่งขันวิชาการทางชีววิทยา ซึ่งเป็นพื้นฐานในการศึกษาวิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร สิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างแตกฉานเพื่อสร้างองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต โดยนักเรียนที่เข้าร่วมการสอบแข่งขันจะได้รับเกียรติบัตรเข้าร่วมงานทุกคน และจะมีการประกาศคะแนนรายบุคคล สรุปคะแนนสูงสุด ต่ำสุด และค่าเฉลี่ย แยกตามหัวข้อต่าง ๆ ภายหลังการแข่งขันภายใน 1 – 2 เดือน ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ Facebook Fanpage https://www.facebook.com/bioismscmu/

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในระดับปริญญาตรี สามารถอ่านรายละเอียดการรับเข้าและติดตามข่าวสารได้ทางเว็บไซต์ https://science.mahidol.ac.th/th/tcas.php

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : ภาควิชาชีววิทยา, ชมรม SC Photo
เว็บมาสเตอร์: นายธีรเทพ แก้วมณี
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567