สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่อาจารย์อาวุโสและคณาจารย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566

Activity Photo
4 กุมภาพันธ์ 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 (Thailand Inventor’s Day 2023) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 24 ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม” เพื่อน้อมรำลึกถึงวันประวัติศาสตร์ การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” แด่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และพระราชทานเกียรติบัตรให้แก่ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 ได้แก่ รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ
โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค และอาจารย์อาวุโสและคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เฝ้ารับเสด็จและเข้ารับพระราชทานเกียรติบัตร
ซึ่งในโอกาสอันดีนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล รองคณบดีฝ่ายกายภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้แทนคณบดี มอบช่อดอกไม้แสดงความยินดีกับอาจารย์อาวุโส และคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล ได้แก่

รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
– ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.กวี รัตนบรรณางกูร
อาจารย์เกษียณภาควิชาจุลชีววิทยา

ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูขององค์การอนามัยโลก ซึ่งอุทิศตนเพื่องานวิจัยอย่างต่อเนื่อง และมีจริยธรรมของนักวิจัยครบถ้วน สมบูรณ์ ทั้งยังมีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และเป็นทได้รับการยอมในระดับนานาชาติ อาทิ
ㆍค้นพบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ซรุ่มแก้พิษงูที่เคยผลิตกันทั่วไปมีประสิทธิภาพในการรักษาต่ำ (low potency)
ㆍค้นพบวิธีการฉีดกระตุ้นม้าพร้อมประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ใช้ในการฉีดม้าที่ให้ผลดียิ่งในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูเดี่ยว (monovalent antivenom) รวม 7 ชนิด ที่มีประสิทธิภาพสูง และในปริมาณมาก ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ทั่วโลก (WHO Guidelines, 2010, 2016)
ㆍค้นพบวิธีการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูรวม (polyvalent antivenoms) สองชนิด คือ เซรุ่มแก้พิษงูรวมต่อกลุ่มงูพิษต่อระบบประสาท (งูเห่า, งูจงอาง, งูสามเหลี่ยม, งูทับสมิงครา) และ เซรุ่มแก้พิษงูรวมต่อกลุ่มงูพิษต่อระบบโลหิต (งูกะปะ งูแมวเซา งูเขียวหางไหม้) โดยใช้หลักการของกลุ่มอาการ (syndromic approach) ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งแก่ผู้ป่วยที่ถูกงูพิษที่ไม่ทราบชนิดกัด ทำให้แพทย์สามารถรักษาชีวิตผู้ถูกกัดได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น
ㆍคิดค้นวิธีการผลิตเซรุ่มเก็พิษงูชนิด “ครอบจักรวาล” สำหรับงูพิษต่อระบบประสาท ที่แก้พิษงูพิษประสาทในวงศ์ Elapidae ได้อย่างน้อย 36 ชนิด ใน 28 species 10 genera รวมทั้งงูทะเลอีก 2 ชนิด ซึ่งเป็นงูที่พบในกว่า 20 ประเทศของ 4 ทวีป นับเป็นเซรุ่มแก้พิษงูที่มีปฏิกิริยาข้ามกลุ่ม (cross neutralization) ที่สูงสุดเท่าที่เคยมีรายงานมา
ㆍค้นพบหลักการการพัฒนาการวัดความเป็นพิษของพิษงู (LD50) และการวัดประสิทธิภาพของเซรุ่มแก้พิษงู (ED50)
ในหลอดทดลอง ที่ให้ค่ความสัมพันธ์ (correlation coefficient) กับผลในสัตว์ทดลองสูงมาก เป็นต้น

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลงานวิจัย : การพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดพ่นจมูก
– ศาสตราจารย์ ดร.ศุขธิดา อุบล
อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา
– รองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ญา สุนินทบูรณ์
อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี
– นางจิตรา ลิ้มทองกุล
นักวิทยาศาสตร์ภาควิชาจุลชีววิทยา

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ผลงานวิจัย : การสร้างคลังข้อมูลวัสดุเชิงประกอบระดับนาโนเมตรพอลิไดแอเซทิลีน/สารประกอบซิงก์ที่สามารถควบคุมพฤติกรรมการเปลี่ยนสีและมีสมบัติฟลูออเรสเซนส์ที่ดีสำหรับเทคโนโลยีการตรวจวัด
– รองศาสตราจารย์ ดร.รักชาติ ไตรผล
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ

รางวัลผลงานวิจัย ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลงานวิจัย : การเพิ่มศักยภาพการแบ่งตัวและการเจริญพัฒนาไปเป็นเซลล์กระดูกของเซลล์ต้นกำเนิดมีเซนไคม์ที่แยกจากเนื้อเยื่อรกของมนุษย์โดยสารแอนโดรกราโฟไลด์
– อาจารย์ ดร.นิตยา บุญหมื่น
อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา
– นางสาวกนกเนตร สุขเสน
นักวิทยาศาสตร์ภาควิชาสรีรวิทยา

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์
ผลงานวิจัย : การสร้างเส้นใยนำแสงโพลีเมอร์แบบมีโครงสร้างภายในระดับไมโครเมตรด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เพื่อการประยุกต์ใช้ในงานทางด้านเซนเซอร์
– ดร.วรรณวิสา ทลาไธสง
ศิษย์เก่าระดับปริญญาโท ภาควิชาฟิสิกส์

รางวัลวิทยานิพนธ์ ระดับดี สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา
ผลงานวิจัย : “จีโนม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ และวิธีตรวจโรคที่จำเพาะต่อไมโครสปอริเดียน Enterocytozoon hepatopenaei”
อาจารย์ที่ปรึกษา
– รองศาสตราจารย์ ดร.อรชุมา อิฐสถิตไพศาล
อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีมาก สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช
ผลงานวิจัย : ตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพเพื่อการเปลี่ยนสารฟีนอลลิคเป็นสารเคมีมูลค่าสูงและการสร้างเทคโนโลยีตรวจวัดยาปราบศัตรูพืชแบบแม่นยำ
– รองศาสตราจารย์ ดร.รัชนก ตินิกุล
อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
ผลงานวิจัย : ผิวหนังเทียมจากเจลาตินผสมเซลล์ต้นกำเนิดกับโกรทแฟคเตอร์ด้วยเทคนิคการพิมพ์ชีวภาพแบบสามมิติสำหรับการรักษาแผลและการฟื้นฟูผิวหนัง
– รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงฤดี เหมสถาปัตย์
อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา

รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับประกาศเกียรติคุณ
ผลงานวิจัย : อนุภาคนาโนโลหะที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลินทรีย์สำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรม
– รองศาสตราจารย์ ดร.ดาครอง พิศสุรรณ
อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ
– นางสาวอรทนา ยอดณรงค์
นักศึกษาระดับปริญญาโท หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ
– นางสาวพรธิดา วัฒนกูล
นักศึกษาระดับปริญญาเอก หลักสูตรวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ
– นางสาวกัญกร พีระสิยาภา
บัณฑิตระดับปริญญาตรี หลักสูตรวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน

งานวันนักประดิษฐ์ 2566 เป็นเวทีสำคัญระดับชาติและนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทย ในด้านการประดิษฐ์คิดค้นต่อการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพออกสู่สายตาคนไทยและประชาคมโลก โดยเปิดโอกาสให้นักวิจัยไทยและต่างชาตินำผลงานมาจัดแสดงและเผยแพร่ผลงานเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ความสามารถออกสู่สาธารณชน ให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์แบบบูรณาการ สู่การสร้างแรงจูงใจให้แก่เยาวชนและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ
ในปีนี้มีสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากนักประดิษฐ์ไทยและนานาชาติส่งผลงานเข้าร่วมกว่า 1,000 ผลงาน บนพื้นที่กว่า 17,000 ตารางเมตร ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมชมผลงานนวัตกรรมวิทยาศาสตร์ และนิทรรศการต่าง ๆ รวมถึงจับจ่ายสินค้าและนวัตกรรมที่มีให้เลือกชมและเลือกซื้ออย่างครบครันได้ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือ สามารถชมงานผ่านระบบออนไลน์ ได้ที่ http://inventorsdayregis.com

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายธีรเทพ แก้วมณี
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566