ม.มหิดล ร่วมกับ International Peace Foundation เชิญนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ บรรยายพิเศษในงาน JAPAN-ASEAN BRIDGES EVENT SERIES: “The Brain’s GPS: How We Know Where We Are.”

13 กุมภาพันธ์ 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล โดยกองวิเทศสัมพันธ์ ร่วมกับ International Peace Foundation จัดงาน JAPAN-ASEAN BRIDGES EVENT SERIES: “The Brain’s GPS: How We Know Where We Are.” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนและส่งเสริมการพัฒนาผ่านการศึกษา โดยได้รับเกียรติจาก Professor Edvard Ingjald Moser นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ ในปี ค.ศ. 2014 ผู้ค้นพบเซลล์ประสาทและระบบระบุตำแหน่งในสมองและความจำ ซึ่งช่วยปูทางสู่การหาวิธีรักษาอัลไซเมอร์ มาบรรยายและแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับการวิจัยกับคณาจารย์และนักศึกษา ณ ห้องประชุมกมลทิพย์ 2-3 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ

ในโอกาสอันดีนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. ม.ร.ว.ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์ คณาจารย์อาวุโส ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล กรรมการประจำสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และผู้บริหารส่วนงาน ร่วมให้การต้อนรับ Professor Edvard Ingjald Moser จาก Kavli Institute for Systems Neuroscience, University for Science and Technology in Trondheim (NTNU) ประเทศนอร์เวย์ Dr. Martha McLean Bolton นักวิจัยจาก Max Planck Florida Institute for Neuroscience ประเทศสหรัฐอเมริกา และ Mr. Uwe Morawetz ประธาน International Peace Foundation

โดยในพิธีเปิด ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ เป็นผู้กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติ และ Mr. Uwe Morawetz ประธาน International Peace Foundation กล่าวถึงความเป็นมาในการจัดกิจกรรม JAPAN-ASEAN BRIDGES EVENT SERIES ก่อนเข้าสู่การบรรยายพิเศษโดยมี ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการบรรยาย Professor Edvard Ingjald Moser ได้บรรยายเกี่ยวกับงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งได้ค้นพบและศึกษาเกี่ยวกับเซลล์ประสาทและการวิธีการทำงานของเยื่อหุ้มสมองชั้นนอกบริเวณกลีบขมับส่วนกลาง (medial entorhinal cortex) ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ชื่อว่า “เซลล์กริด (Grid cells)” ซึ่งทำหน้าที่ในการเข้ารหัสเพื่อกำหนดตำแหน่ง ระยะทาง และทิศทางของเราในสิ่งแวดล้อม แล้วสร้างแผนที่คล้ายกับ GPS ขึ้นมาในสมอง โดยเซลล์กริดจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่มนุษย์ยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ และทำงานร่วมกันเป็นเครือข่ายเซลล์ประสาทหลายร้อยเซลล์ ช่วยให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเคลื่อนที่ไปยังที่ต่าง ๆ จดจำที่ตั้งของแหล่งอาหาร และเอาชีวิตรอดจากผู้ล่าได้ นอกจากจะทำหน้าที่ระบุตำแหน่งแล้วเซลล์กริดยังทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความจำอีกด้วย ดังนั้น การเข้าใจการทำงานของเซลล์กริดจึงถือเป็นก้าวสำคัญ ในการค้นคว้าหาวิธีการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) ได้ ในอนาคต

กิจกรรมในครั้งนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบ online และ on-location โดยได้รับความสนใจจากคณาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในระดับปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา ร่วมฟังการบรรยายเป็นจำนวนกว่า 250 คน

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.ระพี บุญเปลื้อง
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
และงานสื่อสารองค์กร สำนักงานอธิการบดี
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567