18 ธันวามคม 2566 รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะกรรมการโครงการ SPACE-F ผู้แทนคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead และคุณอนุสรา จิตราธนวัฒน์ Government Affair จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และทีมงานพันธกิจพิเศษ คณะวิทยาศาสตร์ ให้การต้อนรับคณะผู้บริหารจาก บริษัท เมอร์ค จำกัด นำทีมโดย Dr. Lysander Chrisstoffels Head of Science and Lab Solutions Commercial APAC, Mr. Seoc-Kyu Park Head of Science and Lab Solutions Commercial in Thailand Vietnam and Philippines, ดร.สุทธิดารักษ์ ชัยจันทร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์และการตลาด, คุณพัชรมณฑ์ อิ่มใจ และ คุณอภิรัก ตันศิริสิทธิกุล ผู้จัดการฝ่ายขาย ณ ห้องประชุม SPACE-F อาคารชีววิทยาใหม่ ชั้น 6 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
บริษัท เมอร์ค จำกัด (Merck Limited) เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกเรื่องการค้นคว้าทางเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ของเยอรมนี ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2534 โดยการร่วมทุนระหว่างบริษัท เมอร์ค เคจีเอเอ ประเทศเยอรมนี และกลุ่ม บีกริม (ประเทศไทย) ปัจจุบันดำเนินกิจการด้านการนำเข้าเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าและยกระดับวงการ Life Sciences ในประเทศไทยให้เกิดคุณค่าสูงสุดต่อวงการวิจัยเคมีภัณฑ์และเวชภัณฑ์ในประเทศอีกด้วย โดยเมอร์คมีการนำเสนอสารเคมีกว่า 300,000 รายการ สำหรับการใช้งานในห้องปฏิบัติการและอุตสาหกรรม และมีโรงงานผลิตทั่วโลกกว่า 65 แห่ง ภายใต้แบรนด์สินค้า Merck, Sigma-Aldrich, Supelco, Millipore และ Milli-Q บริษัทให้บริการลูกค้าในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ, ยา, การวิจัยและพัฒนา, ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, แบตเตอรี่, ความปลอดภัยของอาหาร และสิ่งแวดล้อม โดยมีปรัชญาในการทำธุรกิจที่มีรากฐานมาจาก “ความเอาใจใส่” เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าการประสบความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาว นั้นต้องให้ความห่วงใยเอาใจใส่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอันได้แก่ ลูกค้า ตลอดจนสังคมที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน บริษัท เมอร์ค จำกัด เป็นหนึ่งในผู้นำการค้นคว้าทางเวชภัณฑ์ และเคมีภัณฑ์ จัดจำหน่ายให้กับโรงพยาบาล สถาบันการศึกษา และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทย
ในโอกาสนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล และบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แนะนำโครงการ SPACE-F พร้อมทั้งหารือเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของ Merck ในการร่วมสร้างระบบนิเวศผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต จากร่วมมือทั้งจากทางภาครัฐบาลและเอกชน
โครงการ SPACE-F เป็น Food-Tech Startup Incubator และ Accelerator แห่งแรกในประเทศไทยที่ให้บริการห้องปฏิบัติการพร้อมโปรแกรมให้คำปรึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จากความร่วมมือของผู้ร่วมก่อตั้งและพันธมิตรจากภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับประเทศ ร่วมผนึกกำลังกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยอำนวยความสะดวกในด้านสถานที่ อุปกรณ์และเครื่องมือวิจัย พร้อมผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเพื่อสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมาโครงการได้สร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอาหารที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว 4 รุ่น รวมถึงให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาศึกษาดูงานเพื่อเปิดมุมมองในการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานสู่นวัตกรรมอีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech
พร้อมกันนี้ ทั้ง 3 หน่วยงาน ยังได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความเชี่ยวชาญทั้ง 3 ฝ่าย ในหลากหลายมิติ เพื่อสร้างความร่วมมือในระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาที่ยั่งยืนจากรากฐานวิทยาศาสตร์ที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศ โดย Merck มีความมุ่งหวังจะให้ความช่วยเหลือในด้านงานวิจัยและพัฒนาให้มีความสะดวกมากขึ้น โดยจะเน้นการอำนวยความสะดวกให้นักวิจัยของมหาวิทยาลัย และ Startup สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ของ Merck ได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้บริษัทได้วางแผนความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ โดยจะจัดตั้ง Merck Life Science Experience Center (M-Lab) ขึ้นที่อาคารเวนเจอร์คลับ คณะวิทยาศาสตร์ พญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล และมีพิธีเปิดในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2567 นี้
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวพูนทรัพย์ มหานันทโพธิ์
และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 21 ธันวาคม 2566