สวทช. ร่วมกับ JAXA คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ประกาศความสำเร็จของโครงการ AHiS Mission II ส่งมอบต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศแก่ 21 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

Activity photo
20 ธันวาคม 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ส่งมอบ ‘ต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศ’ ภายใต้โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) Mission II ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการด้านชีววิทยาอวกาศ (Space Biology) ให้แก่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐรวม 21 แห่งทั่วประเทศ เพื่อนำไปปลูกและต่อยอดสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการศึกษาเปรียบเทียบการเติบโตระหว่างต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดที่เดินทางไปอวกาศ กับต้นราชพฤกษ์ที่ปลูกด้วยเมล็ดปกติ ณ ห้องประชุม SD-601 อาคารสราญวิทย์ สวทช. อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี
การเดินทางของต้นกล้าราชพฤกษ์อวกาศให้เยาวชนและประชาชนชาวไทยได้เรียนรู้และใกล้ชิดเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้นในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง สวทช. JAXA มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ และหน่วยงานคู่ความร่วมมือ ประกอบด้วย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) บริษัท กรีน อินโนเวทีฟ ไบโอเทคโนโลยี จำกัด และ SPACETH.CO ภายใต้โครงการ AHiS เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัย และกระตุ้นความสนใจด้านเทคโนโลยีอวกาศแก่นานาประเทศ
สวทช. โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน คัดเลือกเมล็ดราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติ จำนวน 360 เมล็ด ให้แก่ JAXA เพื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบร่วมกับเมล็ดพันธุ์พืชจากอีก 11 ประเทศ ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศภายใต้ภารกิจ SpaceX CRS-21 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) โดย SpaceX Cargo Dragon 2 (C208) และจรวด Falcon 9 Block 5 จากศูนย์อวกาศเคนเนดี ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 เมล็ดราชพฤกษ์ของไทยถูกเก็บรักษาไว้ในห้องทดลอง Kibo Module ของ JAXA ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เป็นเวลาประมาณ 7 เดือน ก่อนกลับสู่พื้นโลกด้วยยาน SpaceX Cargo Dragon 2 ภายใต้ภารกิจ CRS-22 ของ NASA ที่อ่าวเม็กซิโก ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 จากนั้นส่งต่อมายังประเทศไทยเพื่อทำการเพาะเมล็ด ณ โรงเรือนวิจัยของภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมีเป้าหมายเพื่อวิจัยผลกระทบของอวกาศต่อการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์และพัฒนาการของไม้ต้น และอนุบาลต้นกล้าต่อจนพร้อมส่งมอบแก่โรงเรียนทั่วประเทศ

ในโอกาสอันดีนี้ ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ และ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการ Plant Biology and Astroculture Laboratory (PBA Lab) กลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความร่วมมือการเพาะกล้าราชพฤกษ์อวกาศและการศึกษาวิจัยว่า คณะวิทยาศาสตร์มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการสนับสนุนความร่วมมือด้านกิจกรรมและการวิจัยระหว่างกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สวทช. และ JAXA ซึ่งนอกจากการส่งมอบตัวอย่างพืชจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) เพื่อการวิจัยแล้ว ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์เข้าร่วมกิจกรรม มีการแลกเปลี่ยนความรู้กับหน่วยงานวิจัยระดับชาติ สามารถสร้างแรงบันดาลใจและเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์อวกาศ ซึ่งเป็นหนึ่งในการวิจัยขั้นแนวหน้าสำหรับอนาคต ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ให้ใช้โรงเรือนวิจัยในพื้นที่ศาลายาสำหรับดำเนินโครงการราชพฤกษ์อวกาศ ทางคณะฯ มีความคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต้นราชพฤกษ์อวกาศที่แจกจ่ายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้ผ่านสภาพแวดล้อมที่รุนแรงในอวกาศมาแต่ยังสามารถเจริญเติบโตอย่างงดงามต่อไปได้ จะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนของประเทศไทยและความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจด้านอวกาศของมวลมนุษยชาติ

สำหรับโครงการราชพฤกษ์อวกาศเฟสแรก มีสถาบันการศึกษาที่ได้รับมอบต้นกล้าราชพฤกษ์จำนวน 21 แห่ง ประกอบด้วย ภาคกลาง โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ, โรงเรียนโยธินบูรณะ, St. Andrews International School Bangkok, โรงเรียนยอแซฟอยุธยา, โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์, โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย และภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ภาคเหนือ โรงเรียนอุตรดิตถ์, โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทร์ พะเยา, และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสาน โรงเรียนอุบลรัตนราชกัญญาราชวิทยาลัย นครราชสีมา, โรงเรียนประทาย, โรงเรียนวัดห้วยจรเข้วิทยาคม, โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม, โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย บุรีรัมย์, โรงเรียนยางตลาดวิทยาคาร, โรงเรียนบ้านม่วงพิทยาคม, โรงเรียนเทศบาล 2 (วัดกะพังสุรินทร์) และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้หน่วยงานที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการราชพฤกษ์อวกาศในระยะต่อไป สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ https://www.nstda.or.th/spaceeducation และ Facebook NSTDA SPACE Education

Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo
Activity photo

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์
ภาพข่าวโดย: สวทช.
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 20 ธันวาคม 2565