คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมพิธีเปิด Osaka – Mahidol International Office พร้อมหารือสานต่อความร่วมมือกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาข้ามพรมแดนกว่า 20 ปี

18 สิงหาคม 2566 มหาวิทยาลัยมหิดล จับมือ Osaka University เปิดตัว Osaka – Mahidol International Office ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กระชับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษาข้ามพรมแดน ความร่วมมือนี้ไม่เพียงบ่งบอกถึงความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการเป็นพันธมิตรอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปี แต่ยังปูทางไปสู่การขยายความร่วมมือในอนาคตในด้านการศึกษาและการวิจัยที่ก้าวล้ำอีกด้วย
โดยในพิธีเปิด มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ รองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร พร้อมผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) และ Osaka University นำโดย Professor Tanaka Manabu Executive Vice President, Global Engagement, Facilities and EXPO2025, Professor Yamamoto Beverley Anne, Executive Vice President, International Affairs (Education), Professor Fujiyama Kazuhito Director, International Center for Biotechnology พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และคณาจารย์จากคณะต่าง ๆ ที่ได้มีความร่วมมือกันจากทั้ง 2 สถาบันเข้าร่วมพิธี
นอกจากนั้น คณะผู้บริหารทั้งสองสถาบันได้มีการพูดคุยปรึกษาหารือถึงการขับเคลื่อนความร่วมมือในระดับมหาวิทยาลัยให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น รวมไปถึงการสถาปนาความร่วมมือกับคณะต่าง ๆ ภายใต้มหาวิทยาลัยมหิดล นอกเหนือจากคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ วิทยาลัยนานาชาติ คณะศิลปศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะกายภาพบำบัด
โดยในครั้งนี้ ผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ได้พูดคุยร่วมกับ Professor Fujiyama Kazuhito Director, International Center for Biotechnology, Professor Shioda Tatsuo Research Institute for Microbial Diseases ในการหารือกลุ่มย่อย เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือเดิมที่ดำเนินการร่วมกันอยู่ในปัจจุบัน และการขยายความร่วมมือไปยังหลักสูตรต่าง ๆ ภายในคณะวิทยาศาสตร์
จากนั้นในช่วงบ่ายคณะผู้บริหารจาก Osaka University ได้เดินทางมายังคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท เพื่อเยี่ยมชมหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ฤทัยวรรณ โต๊ะทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวหน้าหน่วย MU-OU:CRC พร้อมด้วยคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิสา ปฏิการมณฑล และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บังอรศิริ อินตรา อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพและหน่วย MU-OU:CRC รองศาสตราจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากโครงการ Double Degree Program (DDP) ของ Osaka University International Certificate Program (OUICP) และนักศึกษาในโครงการวิจัยระยะสั้นของทั้ง 2 สถาบัน ให้การต้อนรับและนำชมห้องปฏิบัติการ ณ ชั้น 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยโอซาก้า เป็นมหาวิทยาลัยพันธมิตรที่มีความร่วมมือทางวิชาการมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี โดยเริ่มจากการพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ และการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ด้วยการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า หรือ MU-OU:CRC ขึ้น พร้อมกับเปิดหน่วยความร่วมมือการวิจัย สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสาขาต่างประเทศแห่งแรกของ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (CRS, ICBiotech, Osaka University) เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเน้นที่งานวิจัยและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำไปสู่ความร่วมมือด้านการศึกษาอีกมากมาย อาทิ โครงการ Double Degree Program (DDP) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Osaka University International Certificate Program (OUICP) ที่เปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกสาขาเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาเคมี ในการศึกษาต่อและทำวิจัย โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยน โครงการวิจัยระยะสั้น การจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุมวิชาการ และการสัมมนาวิชาการ เป็นต้น
คณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยโอซาก้า ได้เล็งเห็นถึงบริบทและสิ่งแวดล้อมด้านสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์กับการจัดการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีแผนจะขยายความร่วมมือทางด้านการศึกษาและการวิจัยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือในโครงการ Double Degree Program (DDP) โครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนระยะสั้น (Exchange Student) และโครงการวิจัยให้ครอบคลุมไปยังสาขาอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างสังคมศาสตร์ (Social Science) และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (Basic Science) ให้มากขึ้น รวมถึงมองหาโอกาสในการพัฒนาหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-degree) ร่วมกัน กระตุ้นและสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมต่ออาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาของทั้งสองสถาบันเข้ากับผู้ใช้เทคโนโลยี เป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ให้นักศึกษามีทักษะที่ดีด้านการเป็นพลเมืองโลก (Global citizenship) เพื่อตอบสนองปัญหาในระดับนานาชาติ (Global issue) ในอนาคต ทั้งสองสถาบันยังมุ่งที่จะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและวิจัยมากขึ้น เช่น โครงการ Start-up ต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) โดยใช้ Osaka University ASEAN Campus ของมหาวิทยาลัยโอซาก้าเป็นหน่วยงานประสานงานความร่วมมือดังกล่าว

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
นายเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ
ตรวจสอบโดย :
รองศาสตราจารย์ ดร. ปฐมพงษ์ แสงวิไล
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช,
นางสาวปัณณพร แซ่แพ,
สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 18 สิงหาคม 2566