8 เมษายน 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมกิจกรรม MU-NSTDA Researcher Visit ประจำปี 2568 ครั้งที่ 1 ภายใต้ MOU โครงการความร่วมมือเพื่อความเป็นเลิศ ระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล กับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ ห้องประชุมบุษกร ชั้น 1 อาคารเนคเทค 111 อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ถนนพหลโยธิน ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
โดยมหาวิทยาลัยมหิดลและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้มีการร่วมดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา เรื่อง โครงการความร่วมมือเพื่อความเป็นเลิศระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบาย แผนงานในการสร้างความเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนา สร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและพัฒนาบุคคลากรวิจัยและร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายพันธมิตรการวิจัยระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดลกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (MU-NSTDA Interdiscipinary Research Consortium)
ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.สมบุญ สหสิทธิวัฒน์ รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงานบริหารการวิจัยและพัฒนา เป็นผู้กล่าวต้อนรับและเป้าหมายของความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน



นอกจากนี้ ยังมีการแนะนำผลงานวิจัยจากศูนย์วิจัยแห่งชาติ สวทช. ทั้ง 5 ศูนย์ นำโดย ดร.ปิยวุฒิ ศรีชัยกุล รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ, ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ, ศาสตราจารย์ ดร.ศิวพร มีจู สมิธ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และ ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ก่อนที่จะร่วมเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐาน และห้องปฏิบัติการ สวทช. ได้แก่
ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) – ให้การบริการทดสอบสอบเทียบ วิจัย พัฒนา ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องมือแพทย์ของไทย
ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (ThaiSC) – ให้การบริการระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงแก่งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการคำนวณ เช่น การทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์, งานวิจัยด้าน Computational Chemistry, Bioinfomatics Climate Change, Al, Big Data เป็นต้น
ศูนย์บริการวิเคราะห์ทดสอบ (NCTC) – ให้การบริการวิเคราะห์ทดสอบด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนการทำวิจัย พัฒนาอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพตรงตามหลักมาตรฐานสากล ภายใต้ 4 กลุ่ม ได้แก่ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะทางกายภาพ ทางเคมี ลักษณะเฉพาะทางชีวภาพ และทางจุลชีววิทยา
โรงงานต้นแบบผลิตอนุภาคนาโนและเครื่องสำอาง (Nanoparticles and Cosmetics Production Plant) – ให้การบริการผลิตเครื่องสำอางด้วยนวัตกรรมทางด้านนาโนเทคโนโลยีอย่างครบวงจรตั้งแต่การทดลองผลิตในสเกลขนาดเล็ก การขยายขนาดการผลิต ไปจนถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ตามมาตรฐาน ASEAN Cosmetic GMP
และปิดท้ายด้วยกิจกรรมระดมสมองเพื่อกำหนดโจทย์วิจัย หรือแนวทางความร่วมมือ ระหว่างอาจารย์และนักวิจัย จากทั้ง 2 หน่วยงาน ผ่านการแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1. Health science, 2. Agricultural and Biological Sciences 3.Engineering, 4. Energy and Environmental Sciences และ 5. Advanced Material Sciences and Nanotechnology





















เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 8 เมษายน 2568