25 เมษายน 2567 งานสื่อสารองค์กร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดโครงการ เสวนาวิทยาศาสตร์ Mahidol Science Café 2024 เรื่อง “สเปรย์ฟิล์มบาง ลดอุณหภูมิ กู้มหันตภัยโลกเดือด” รูปแบบ Hybrid ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ใน Facebook page : Mahidol University, Faculty of Science
โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์และนักวิจัยที่มีประสบการณ์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาวัสดุศาสตร์และนวัตกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ และ นายปฐวี สักกะตะ นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมวัสดุ คณะวิทยาศาสตร์ มาร่วมเป็นวิทยากรเสวนาให้ถ่ายทอดความรู้ในครั้งนี้ ซึ่งมี อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์, อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยที่กิจกรรมในครั้งนี้ได้มีผู้ให้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทย์ ม.มหิดล พญาไท และรับชมทาง Facebook Live จำนวนยอดวิวรวมกว่า 1000 ครั้ง ภายใน 5 ชม
ภายในงานได้มีการพูดคุยในประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนที่กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมากในสังคม ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสถานการณ์อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น สถิติอุณหภูมิในประเทศไทย วิธีโดยทั่วไปที่ใช้ลดอุณหภูมิ การนำหลักการทางฟิสิกส์มาใช้ในเรื่องการนำความร้อนและลดความร้อน รวมไปถึงการแนะนำเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพในด้านของการลดอุณหภูมิ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น อีกทั้งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
ลำดับต่อมา ได้มีการพูดคุยในด้านประเด็นหลักที่สำคัญ โดยเจาะลึกถึงผลงานที่ได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ เรื่อง “กรรมวิธีการขึ้นรูปฟิล์มบางระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสีด้วยการฉีดพ่น” ผลงานตีพิมพ์ระดับ Top 3% Impact factor = 8.9 “Radiative cooling film enabled by droplet-like infrared hot spots via low-cost and scalable spray-coating process for tropical regions” ซึ่งเกี่ยวกับ สเปรย์ฟิล์มบาง หรือฟิล์มระบายความร้อนด้วยการแผ่รังสี ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากสามารถดึงความร้อนจากในอาคารสู่นอกอาคาร โดยไม่ใช้พลังงานใดๆ (passive cooling) โดยฟิล์มระบายความร้อนนี้เป็นวัสดุที่สามารถปล่อยรังสีความร้อนในช่วงความยาวคลื่น 8 – 13 ไมโครเมตรได้ดี ซึ่งช่วงนี้ถูกเรียกว่า atmospheric window เป็นช่วงหน้าต่างที่รังสีความร้อนอินฟราเรดถูกปลดปล่อยจากโลกสู่อวกาศ
ซึ่งหากพูดถึงในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์นั้น จุดเด่นที่สำคัญของสเปรย์ฟิล์มบาง ก็คือความสามารถในการเคลือบพื้นผิวที่หลากหลาย เคลือบพื้นผิวขนาดเล็กใหญ่ตามต้องการ การมีต้นทุนต่อตารางเมตรที่ต่ำกว่าเทคโนโลยีคู่แข่ง และในแง่ของประสิทธิภาพในการลดความร้อน ตัวสเปรย์ฟิล์มบางสามารถลดอุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงสุดถึง 3.94 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ทาง รศ. ดร. พงศกร กาญจนบุษย์ ยังมีแนวคิดที่กำลังจะสร้าง Start up ร่วมกับนักศึกษาในแลป ผ่านทาง iNT (สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม) โดยใช้ชื่อว่า “Passi-Cool” ย่อมาจาก passive cooling หรือการลดอุณหภูมิแบบไม่ใช้พลังงานนั่นเอง โดยใช้สีน้ำเงินเป็นสีหลัก เพื่อบ่งบอกว่านวัตกรรมนี้มาจากงานวิจัยดีๆ ของอาจารย์และนักศึกษา ม.มหิดล ซึ่งถ้าหาก start up นี้สำเร็จ ก็จะสามารถที่จะสร้างชื่อเสียงและรายได้ให้กับมหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นนวัตกรรมดีๆจากประเทศไทยที่มีโอกาสนำใช้ในระดับสากลเพื่อลดความร้อน สำหรับผู้ที่มีความสนใจในผลงานที่ทาง รศ. ดร. พงศกร กาญจนบุษย์ ทำร่วมกับทีมวิจัยและนักศึกษา สามารถติดตามข้อมูลได้ที่ https://www.facebook.com/KanjanaboosLab และช่องทางเว็บไซต์ของ ม.มหิดล https://mahidol.elsevierpure.com/en/persons/pongsakorn-kanjanaboos
และสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://fb.watch/rFSIPQoMT3/ หรือติดตามอ่านบทความสรุปเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/simple-science/
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.พงศกร กาญจนบุษย์
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 25 เมษายน 2567