คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
10 เมษายน 2567 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ และนักศึกษาในห้องปฏิบัติการจำนวน 3 คน ได้แก่ นายพริษฐ์ กฤตยวงศ์ นักศึกษาหลักสูตรชีวนวัตกรรม, นางสาวอนิญญา เผ่าพงษ์ นักศึกษาหลักสูตรชีวนวัตกรรม และนายณพงษ์ ตั้งวิรุฬห์ นักศึกษาหลักสูตรวัสดุศาสตร์ เข้าร่วมพิธีปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ จัดโดย บริษัท ซีพีแรม จำกัด โดยมี คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีและกล่าวขอบคุณ ณ บริษัท ซีพีแรม จำกัด สำนักงานใหญ่ ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ ยังได้รับเกียรติจากทางผู้จัดงาน ให้เป็นผู้บรรยายในหัวข้อเรื่อง โครงการราชพฤกษ์อวกาศและแผนงานด้านอวกาศของประเทศไทย เพื่อเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการราชพฤกษ์อวกาศและแผนงานด้านอวกาศของประเทศไทยเพื่อสร้างองค์ความรู้และได้ตระหนักถึงความสำคัญของโครงการดังกล่าว ต่อผู้บริหารและพนักงาน ณ ห้องปฏิบัติการ Plant Biology and Astrobotany (PBA) Lab
ก่อนที่ประธานและแขกผู้มีเกียรติภายในงาน จะเดินทางไปยังจุดปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ (บริเวณด้านหน้าอาคาร 6) โดยมี อาจารย์ ดร.ทัฏพงศ์ ตุลยานนท์ และ คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู เป็นผู้ปลูกต้นราชพฤกษ์อวกาศ พร้อมกับถ่ายภาพร่วมกับคณะผู้บริหารและแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ในส่วนที่มาของต้นราชพฤกษ์อวกาศนั้น เนื่องด้วยทางบริษัท ซีพีแรม จำกัด สำนักงานใหญ่ ได้รับมอบต้นราชพฤกษ์อวกาศจำนวน 1 ต้น จากโครงการราชพฤกษ์อวกาศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการวิจัยด้านชีววิทยาศาสตร์อวกาศ (space biology) ของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้โครงการ Asian Herb in Space (AHiS) Mission II ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย องค์การสำรวจอวกาศประเทศญี่ปุ่น (JAXA), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ
โดยได้มีการส่งเมล็ดราชพฤกษ์ ขึ้นไปเก็บรักษายังสถานีอวกาศนานาชาติในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ในภารกิจ SpaceX CRS-21 ด้วยยานอวกาศ Cargo Dragon C208 ของบริษัท SpaceX เป็นเวลา 7 เดือน ก่อนเดินทางกลับสู่พื้นโลก ซึ่งทางคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการวิจัยและเพาะปลูกเมล็ดราชพฤกษ์อวกาศก่อนทำการส่งมอบไปยังสถานศึกษา หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่สนใจทั่วประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือทาง บริษัท ซีพีแรม จำกัด ด้วยเช่นกัน ซึ่งมีการจัดพิธีส่งมอบไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2566 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย และได้มีการนำมาเพาะเลี้ยง ณ ศูนย์วิชาการเกษตร บริษัท ซีพีแรม จำกัด จนถึงปัจจุบัน
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : งานสื่อสารองค์กร บริษัท ซีพีแรม จำกัด
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 10 เมษายน 2567