19 เมษายน 2567 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสวมยอดพระเกศพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ ทรงยกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ และทรงเปิดหอพระพุทธมหาสิริพีรยพัฒน์ โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครปฐม ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ศาสตราจารย์ น.พ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดี รองศาสตราจารย์ นพ.ก้องเขต เหรียญสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร รองศาสตราจารย์ ดร. ภญ.จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน พร้อมด้วยผู้บริหารส่วนงานต่าง ๆ โดยคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี และ อาจารย์ ดร.ระพี บุญเปลื้อง รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและวิเทศสัมพันธ์ และ ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ณ สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
พระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เป็นนามของพระพุทธรูปที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้กับชาวมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 2 มกราคม 2563 ซึ่งมีความหมายว่า “พระพุทธรูปที่นำมาซึ่งปัญญาหยั่งรู้อันกระจ่างแจ้งและเป็นมงคลแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล” โดยนําแบบมาจาก “พระพุทธมหาลาภ” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานให้แก่มหาวิทยาลัยมหิดล หลังจากได้ทรงรับทราบปัญหาอุปสรรคบางประการที่เกิดขึ้นบนพื้นที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อ 8 พฤษภาคม 2535 นำมาซึ่งความเป็นสวัสดิมงคลและความร่มเย็นเป็นสุขแก่บรรดาคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล
ลักษณะของพระพุทธมหิดลมงคลปัญญาญาณ เป็นพระพุทธรูปโบราณในศิลปะไทยใหญ่ตามนิกายมหายาน ทรงเครื่องแบบกษัตริย์ หงายพระหัตถ์ในลักษณะของปางฉันสมอ หรือ พระไภษัชยคุรุ ซึ่งหมายถึงพระพุทธเจ้าผู้เป็นบรมครูแห่งการแพทย์และยารักษาโรค ผู้มีรัศมีสีน้ำเงินดังไพลิน ผู้ศรัทธาบูชาจะนำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุข และปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ” โดยได้พระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “ส.ธ.” มาประดิษฐานที่ผ้าทิพย์ด้วย ออกแบบโดยศิลปิน อาจารย์ ดร.สุพร ชนะพันธ์ และได้รับการปรับแต่งให้มีพุทธลักษณะที่งดงามและอ่อนช้อยมากยิ่งขึ้นโดย อาจารย์ มานพ อมรวุฒิโรจน์ อดีตนายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยได้รับการสนับสนุนการจัดสร้างโดยมูลนิธิดร.เทียม โชควัฒนา นำโดย ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา และมูลนิธิมหาวิทยาลัยมหิดลในพระราชูปถัมภ์ ในโอกาสเฉลิมพระเกียรติ 65 พรรษากรมสมเด็จพระเทพฯ
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 19 เมษายน 2567