คณะวิทย์ ม.มหิดล และ iNT ร่วมกับ Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE และ Nestlé นำ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหาร โชว์นวัตกรรมสุดล้ำใน SPACE-F Batch 5 Incubator Demo Day

20 ธันวาคม 2567 มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย คณะวิทยาศาสตร์ และ iNT ร่วมกับพันธมิตร Thai Union, NIA, ThaiBev, Deloitte, LOTTE และ Nestlé นำ 10 สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารในโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจ (Incubator) ภายใต้โครงการ SPACE-F รุ่นที่ 5 เปิดตัวผลงานและนวัตกรรมแก่นักลงทุน และผู้ที่สนใจในนวัตกรรมด้าน FoodTech บนเวที SPACE-F Batch 5 Incubator Demo Day ณ PHENIX Pratunam

สตาร์ทอัพภายใต้โครงการ SPACE-F Incubator รุ่นที่ 5 ทั้ง 10 ทีม จาก 4 ประเทศ ได้ผ่านการติวเข้มโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านจากหน่วยงานพันธมิตรในโครงการเป็นระยะเวลากว่า 6 เดือน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาแผนธุรกิจอย่างเข้มข้น รวมถึงสร้างความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทย พร้อมทั้งพัฒนานวัตกรรมร่วมกับบริษัทคู่ค้า เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตที่ยั่งยืนในด้านต่าง ๆ อาทิ Health and wellness, ด้านส่วนผสมและอาหารใหม่, Packaging solutions, Food safety and quality และ Biomaterials and Chemicals ซึ่งเทคโนโลยีของแต่ทั้ง 10 ทีมที่ร่วมโชว์ผลงานนั้นต่างมีจุดเด่นเฉพาะตัวที่น่าสนใจ ได้แก่

Full Circle (Incubator: ไทย) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อการลดใช้บรรจุภัณฑ์เพียงครั้งเดียว เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

Cantrak (Incubator: ไทย) ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการติดตาม ตั้งแต่การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการผลิต

Another Food (Incubator: สิงคโปร์) ผู้ผลิตภัณฑ์กาแฟจากเซลล์พืชด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเซลล์พืช

Algrow Biosciences (Incubator: สิงคโปร์) ผู้พัฒนาการสกัดโปรตีนและเม็ดสีคุณภาพสูงจากสาหร่ายด้วยเทคโนโลยีการสกัดที่สะอาด

Beijing BangyaBangya Technology (Incubator: จีน) ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มจากต้นอ่อนถั่วลิสง ที่มีประโยชน์และสามารถป้องกันอาการเมาค้างได้

Nanozeree (Incubator: ไทย) ผู้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ประกอบด้วยโปรไบโอติกและพรีไบโอติก ด้วยเทคโนโลยีการห่อหุ้มระดับนาโน (Nano Encapsulation)

KronoLife (Incubator: ไทย)ผู้พัฒนานวัตกรรมสารสกัดชะลอวัยสำหรับอาหารเสริมและเครื่องสำอางต่อต้านริ้วรอย โดยมุ่งเป้ากำจัดเซลล์ชราเพื่อสุขภาพผิวที่ดีขึ้น

21 Flavour (Incubator: ไทย) ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ด้วยเทคโนโลยีการหมักเพื่อเปลี่ยนวัตถุดิบให้เป็นรสชาติ และใช้ผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมเกษตร

Anuvi Food Sciences (Incubator: อินเดีย) ผู้พัฒนาสารลดการรับรู้รสขมจากไมโครโปรตีนด้วยเทคโนโลยีการหมักชีวมวลที่เหลือจากอุสาหกรรมเอทานอล

SEATOBAG (Accelerator: สิงคโปร์) ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์เป็นสารอาหารสำคัญในอาหารสัตว์น้ำ เพื่อช่วยในการย่อยและการดูดซึมของสัตว์

SPACE-F เป็นโครงการส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ Food-Tech Startups ในการสร้างนวัตกรรมระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้สตาร์ทอัพค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ซึ่งเป็นการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพให้แข็งแกร่ง โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ที่ก่อตั้งโดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา นำโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในบทบาทผู้ให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก ก่อนจะขยายความร่วมมือไปยังสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และพันธมิตรวงการธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ไปจนถึงบริษัทให้คำปรึกษาในระดับนานาชาติ อาทิ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด หรือ Deloitte LOTTE และ Nestlé ในเวลาต่อมา และล่าสุดได้ร่วมกับ Techsauce  และ Innovate 360 ผู้นำด้านการสร้างเครือข่ายและขับเคลื่อนนวัตกรรมผ่านกิจกรรมระดับนานาชาติในรูปแบบที่หลากหลาย

ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย พร้อมด้วยคณะวิทยาศาสตร์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ประสานงานโครงการ SPACE-F สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการ และผู้แทนหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำโดย ดร. ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ (Group Director, Growth & Partnerships) คุณธวัช สุธาสินีนนท์ (Director of Global Innovation Center) Dr. Magnus Bergkvist (Head of Science & Research) Dr. Christopher Aurand (Open Innovation Leader) และนางสาวอนุสรา จิตราธนวัฒน์ (Government Affair), สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) นำโดย ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง (ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ) และคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค (นักพัฒนานวัตกรรมอาวุโส), บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) นำโดย คุณดนัย ครามโกมุท (Assistant Vice President-Channels Business Development), บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด นำโดย ดร.นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ (Executive Director), บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า นำโดย คุณฐาปนพงษ์   เปรมไพรวัลย์ (Corporate Incubator Manager) รวมถึง คุณอรนุช เลิศสุวรรณกิจ (Co-Founder & CEO บริษัท Techsauce Media Co., Ltd.) Mr. John Cheng (CEO บริษัท Innovate 360) และ Mr. Sean Mak (COO บริษัท Innovate 360) มาร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานครั้งสุดท้ายของสตาร์ทอัพในโครงการ

และยังมีทีมจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย นายพชรณัชช์ เอกวุฒิ (ผู้จัดการศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ MINDCenter) และ ดร. ชวพล ดิเรกวัฒนะ (นักบริหารทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการเรียนรู้ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์) ทีมจากศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมและชีวการแพทย์สารสนเทศ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย ผศ. ดร.คัคนานต์ สรุงบุญมี และอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ศิษย์เก่าโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 และ 2 หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm รวมถึงนักศึกษาปริญญาตรีปี 2 และ ปี 3 จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ และและนักศึกษาปริญาตรีปี 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Food Science & Technology) วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) จำนวนกว่า 20 คน มาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

ภายในงาน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้กล่าวเปิดงาน และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 และ 2 หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm กล่าวในช่วง Startup Success Journey โดยได้เล่าเส้นทางการสร้างธุรกิจ พร้อมให้กำลังใจแก่สตาร์ทอัพรุ่นน้องก่อนการนำเสนอผลงานครั้งสำคัญนี้

จากนั้นในพิธีปิด รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย กล่าวทิ้งท้ายว่า มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมสนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างเต็มที่ เรามีคณะวิทยาศาสตร์ที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึกในด้านต่าง ๆ และสามารถเชื่อมต่อสตาร์ทอัพเข้ากับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเร็วในการพัฒนาเทคโนโลยีของแต่ละบริษัท และขับเคลื่อนระบบนิเวศน์สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอาหารของประเทศไทยได้ และนี่เป็นเหตุผลที่โครงการ SPACE-F ตั้งอยู่ในพื้นที่ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ขณะเดียวกันสตาร์ทอัพและศิษย์เก่าของโครงการ SPACE- F ก็นับเป็นตัวอย่างที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในระดับโลกเช่นกัน

และในฐานะผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดล ขอขอบคุณพันธมิตรทุกภาคส่วนที่ร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรม ส่งเสริมสตาร์ทอัพและ สำหรับประเทศไทยร่วมกัน และหวังอย่างยิ่งว่า SPACE-F จะเติบโตอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนอนาคตของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารและเทคโนโลยีการเกษตรสำหรับประเทศไทยต่อไปในอนาคต

และนอกจากการนำเสนอผลงานบนเวทีแล้ว SPACE-F ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร และพนักงานจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน นักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งไทย และต่างประเทศ และผู้เข้าร่วมอื่น ๆ ที่ให้ความสนใจในเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสตาร์ทอัพแต่ละทีมได้พูดคุยทำความรู้จักเทคโนโลยีของแต่ละทีมอย่างใกล้ชิดที่บูธแสดงผลงานตัวอย่างของแต่ละบริษัทอีกด้วย

งานในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 200 คน นับเป็นความสำเร็จของ SPACE-F Batch 5 Incubator Demo Day ที่เปิดโอกาสให้สตาร์ทอัพภายใต้โครงการได้เปิดตัวนวัตกรรมและความสำเร็จ เผยศักยภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจต่อนักลงทุนจากทั่วโลกและผู้บริหารของบริษัทต่าง ๆ  เพื่อเชื่อมโยงสู่การเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และปิดโครงการ SFACE-F Batch 5 อย่างสวยงาม

สำหรับปีหน้า SPACE-F Batch 6 จะกลับมาอีกครั้ง โดยสตาร์ทอัพที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่ https://www.facebook.com/spaceffoodtech

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 20 ธันวาคม 2567