7 – 8 กันยายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดบ้านต้อนรับคณาจารย์และ 21 นักศึกษาแลกเปลี่ยนระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้โครงการ “Field study program: Bioresources and Environment” พร้อมจัดกิจกรรมสัมมนา Osaka University Oversea Field Study Program 2023: Student Final Presentation ในรูปแบบ Hybrid เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำวิจัยในประเทศไทย กระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือด้านวิชาการที่เข้มแข็งของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
โครงการ “Field study program: Bioresources and Environment” เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมความร่วมมือตามข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยโอซาก้าและมหาวิทยาลัย 4 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การสนับสนุนนักศึกษาแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JASSO เพื่อให้โอกาสแก่นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาได้มาทำวิจัยระยะสั้น (Short Stay Short Visit: SSSV) ที่มหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพทั้ง 4 แห่ง
โครงการนี้ไม่เพียงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้ความหลากหลายทางวัฒนธรรม สัมผัสกับบรรยากาศและกิจกรรมการวิจัยระดับนานาชาติ แต่ยังช่วยเพิ่มความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยสร้างความผูกพันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยโอซาก้าและทีมนักวิจัยในประเทศไทย รวมทั้งเสริมสร้างความร่วมมือในปัจจุบันให้มีความเข้มแข็งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือใหม่และมีประสิทธิภาพในอนาคตอีกด้วย
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี หัวหน้าหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) ได้นำทีมอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น นำโดย Professor Fujiyama Kazuhito, Director of International Center for Biotechnology หรือ ICBiotech, Osaka University เข้าเยี่ยมชมเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการวิจัยภายในหน่วยความร่วมมือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัย มหิดลและมหาวิทยาลัยโอซาก้า (MU-OU:CRC) และหน่วยความร่วมมือการวิจัยสำหรับประเทศในตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์นานาชาติด้านเทคโนโลยีชีวภาพแห่งมหาวิทยาลัยโอซาก้า (OU:CRS) และงานวิจัยภายใต้หน่วยความร่วมมือ
ต่อด้วยเข้าชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ภายในคณะวิทยาศาสตร์ โดยได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมชาย เชื้อวัชรินทร์ นำเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการแพทย์ (Center of Excellence in Medical Biotechnology: CEMB) ซึ่งทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตตัวยาชีววัตถุใหม่สำหรับการรักษา และชุดตรวจเพื่อการวินิจฉัยโรค ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ นำเยี่ยมชมศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (Excellent Center for Drug Discovery: ECDD) ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางยา เพื่อเป็นจุดตั้งต้นในการค้นหาตัวยา รวมถึงศึกษากลไกการเกิดโรคด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยตามมาตรฐาน ISO และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ นำเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ทอัพ (Startup) เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนสำหรับด้าน “Food Tech Startup” ในประเทศไทย
สำหรับกิจกรรมสัมมนา Osaka University Oversea Field Study Program 2023: Student Final Presentation นั้น ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ และ Prof. Dr. Toshiya Muranaka กล่าวต้อนรับนักศึกษาและเปิดกิจกรรมสัมมนา ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และระบบประชุมออนไลน์ WebEx Meeting
โดยปีนี้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยโอซาก้ากว่า 21 คน ได้นำเสนอผลงานที่ได้ทุ่มเทศึกษาวิจัยตลอดระยะเวลา 1 เดือน ในประเทศไทย โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้า และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่าย รับฟังผลการดำเนินงานและให้ข้อคิดเห็น ซึ่งในตอนท้ายของการสัมมนาคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยโอซาก้านำโดย Professor Fujiyama Kazuhito, Director of ICBiotech, Osaka University กล่าวแสดงความยินดี และชื่นชมนักศึกษาที่ประยุกต์ใช้ทั้งองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคที่มีในการทุ่มเททำการวิจัยจนประสบความสำเร็จภายในระยะเวลาอันสั้น ขอให้นักศึกษาทุกคนมีแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นทำการศึกษาวิจัยต่อไป และหวังว่านักศึกษาทุกคนจะเก็บประสบการณ์ รวมถึงรักษามิตรภาพในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นอย่างดี
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ชูวงศ์ เอื้อสุขอารี
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 8 กันยายน 2566
จำนวนคนดู: 50