คณะวิทย์ ม.มหิดล ร่วมกับ iNT NIA ไทยยูเนี่ยน คกก.อาหารแห่งอนาคต สภาหอการค้าฯ สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย พร้อม SPACE-F หารือ สอวช. ร่วมผลักดันนโยบาย 1000×1000 Innovation-Driven Enterprise สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย 1 ล้านล้านบาท

Activity Photo
7 มิถุนายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และ SPACE-F ร่วมหารือความร่วมมือกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ในการร่วมผลักดันนโยบายการพัฒนาฐานผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation- Driven Enterprises: IDEs) ณ SPACE-F อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี และ รองศาสตราจารย์ ดร.สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปานนท์ ลาชโรจน์ รองผู้อำนวยการ iNT พร้อมด้วยผู้แทนจากพันธมิตรในโครงการ SPACE-F ได้แก่ Dr. Magnus Bergkvist, Head of Science & Research Dr. Chris Aurand, Open Innovation Lead และคุณอนุสรา จิตราธนวัฒน์ Government Affair จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค และคุณอรุณี แปลงนาม นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจ ผู้แทนสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมหารือกับ คุณนิรดา วีระโสภณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ คุณสิรินยา ลิม ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส และทีมงานจาก สอวช. และคุณบุญเลิศ อ่องไพบูลย์ รองประธานคณะกรรมการธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต จากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
โดยได้พูดคุยเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุนของสถาบันอุดมศึกษา หรือสถาบันวิจัย กับภาคเอกชน โดยใช้กลไก University Holding Company เพื่อส่งเสริมการสร้างธุรกิจนวัตกรรมและ Deep-tech Startups ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบนิเวศและปัจจัยเอื้อเพื่อสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจฐานนวัตกรรม ที่มีศักยภาพเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน พร้อมแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยของสถาบันอุดมศึกษาร่วมกับเอกชนในปัจจุบัน และนำเสนอการดำเนินงานของ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโต ทางธุรกิจของ Startup ด้านเทคโนโลยีอาหารระดับโลกแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีศักยภาพในการดึงดูด Food Tech Startup ต่าง ๆ จากทั่วโลกเข้าร่วมโครงการ และช่วยให้ Startup เดินหน้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจได้ทั้งในแง่การพัฒนาสินค้าให้เหมาะสมกับตลาด ตลอดจนแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก ไปจนถึงช่องทางที่ SPACE-F จะสามารถร่วมขับเคลื่อนให้เกิดผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ผ่านนโยบาย 1000 ล้าน 1000 ราย หรือ 1000×1000 IDEs ซึ่งจะสนับสนุน SMEs และ Startup ในธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต เพื่อผลักดันให้เกิดแรงเหวี่ยงกับเศรษฐกิจสร้างมูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ SPACE-F ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 โดยความร่วมมือของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารแนวหน้าระดับโลก และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีภาคเอกชนให้ความสนใจร่วมมือเพิ่มขึ้น ได้แก่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็น Corporate Partner และในส่วนของ Supporting Partners ได้แก่ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ จำกัด และล่าสุด บริษัท ลอตเต้ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ (Startup ecosystem) ของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมอาหารที่ยั่งยืน และเพื่อปั้น Food Tech Startup ในประเทศไทยให้สามารถไปสู่ระดับโลกได้

ปัจจุบันโครงการ SPACE-F ได้ดำเนินการมาถึงรุ่นที่ 4 ในฐานะที่มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านองค์ความรู้ โดย ซึ่งมีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นคณะฯ ทำงานหลัก และได้มีการร่วมมือกับสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้ามามีบทบาทในการช่วยขับเคลื่อนในระดับมหาวิทยาลัย ที่พร้อมจะช่วยส่งเสริมให้นักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัยได้พัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมกันผลักดันให้นักศึกษา อาจารย์และนักวิจัยจากคณะต่างๆ ได้มีโอกาสก้าวสู้การเป็นสตาร์ทอัพของโครงการ SPACE-F เพื่อร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมทางด้านอุตสาหกรรมอาหารสู่ระดับโลกได้ต่อไป

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 7 มิถุนายน 2566