Mahidol Science Café ไขความลับแก่นโลก

Mahidol Science Café ไขความลับแก่นโลก

17 กุมภาพันธ์ 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ไขความลับแก่นโลก ตอบข้อสงสัยกรณีแก่นโลกหยุดหมุนและหมุนย้อนกลับ รวมถึงปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาที่น่าสนใจ และให้ความรู้เกี่ยวกับการศึกษาแก่นโลกผ่านเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยได้รับเกียรติจากสองอาจารย์นักธรณีฟิสิกส์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุล และ อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร.ธวัช รุ่งอรุณวรรณ จากบริษัท เคิร์ลอี ธรณีฟิสิกส์ จำกัด เป็นวิทยากร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และรับชมทาง Facebook live รวมกว่า 44 คน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภูวิศ อมาตยกุลฒ ได้กล่าวถึงรายงานข่าวนักวิจัยพบว่าแก่นโลกหยุดหมุนและมีการหมุนย้อนกลับซึ่งสร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก และเหตุธรณีพิบัติอย่างแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นและสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ อาทิ ประเทศตุรเกียร์ และประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยได้แสดงความเสียใจกับผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ก่อนเชื่อมโยงไปถึงการศึกษาปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาเพื่อทำความเข้าใจโครงสร้างโลกใต้พื้นพิภพที่แบ่งออกเป็นชั้นต่าง ๆ ด้วย ‘ธรณีฟิสิกส์’ ซึ่งช่วยให้เราสแกนโลกระดับลึกโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปยังแก่นโลกจริง ๆ แต่ทำการวัดสัญญาณทางฟิสิกส์แทน เปรียบเทียบได้กับการสแกนร่างกายของมนุษย์เพื่อศึกษาดูอวัยวะและโครงสร้างภายในโดยไม่ต้องทำการผ่าตัดนั่นเอง โดยสัญญาณที่นักวิทยาศาสตร์ตรวจวัดนั้น ได้มาจากการวัดสนามแม่เหล็กโลก วัดคลื่นไหวสะเทือนจากแผ่นดินไหว เป็นต้น

นอกจากทำความเข้าใจโครงสร้างของโลกในเชิงลึกแล้ว ธรณีฟิสิกส์ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการสำรวจหาทรัพยากรธรรมชาติบริเวณใกล้ผิวโลก เช่น น้ำบาดาล น้ำพุร้อน ปิโตรเลียม ฯลฯ และการค้นพบทางโบราณคดีอีกด้วย

ด้าน ดร.ธวัช รุ่งอรุณวรรณ ได้เสริมความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดสนามแม่เหล็กโลก คลื่นที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยเฉลยว่าเนื้อโลกของเราเป็นอย่างไรว่า โลกของเราไม่ได้มีแม่เหล็กแท่งใหญ่แบบที่เราเห็นได้ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ฝังอยู่ข้างใน สนามแม่เหล็กโลกแท้จริงแล้วเกิดจากของเหลวที่หมุนวนอย่างปั่นป่วนในแก่นโลกชั้นนอก ซึ่งมีกลไกการเกิดขึ้นภายในอย่างซับซ้อน

และให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาโครงสร้างโลกด้วยสนามแม่เหล็กว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากลมสุริยะที่มาจากการระเบิดเป็นครั้งคราวบนผิวของดวงอาทิตย์ และมาปะทะกับสนามแม่เหล็กโลก เกิดเป็นสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สามารถทะลุไปยังพื้นโลกและสะท้อนกลับขึ้นมาให้เราตรวจจับสัญญาณได้ ทั้งนี้ ใต้ของโลกก็สามารถสร้างสัญญาณแบบนี้ขึ้นมาที่ผิวโลกได้เช่นกัน แต่อาจต้องใช้เวลาเดินทางขึ้นมานานกว่า 100 ปี นักวิทยาศาสตร์จึงพยายามตั้งสถานีตรวจวัดให้สามารถเก็บข้อมูลได้ยาวนานและครอบคลุม โดยปัจจุบันสถานีวัดสัญญาณต่าง ๆ ยังมีอายุไม่ถึง 200 ปี ซึ่งถือว่ายังมีข้อมูลน้อย

ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความร่วมมือกับนักวิจัยจาก JAMSTEC และ Earthquake Research Institute, The University of Tokyo เก็บข้อมูลสนามแม่เหล็กโลกในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งยังมีการเก็บข้อมูลน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ทางฝั่งยุโรปซึ่งในอดีตมีความก้าวหน้าด้านเดินเรือมากกว่า จึงมีการมาตั้งสถานีที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อควบคุมข้อมูลให้คุณภาพ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000

ส่วนการไขความลับสุดพิศวงของแก่นโลกและประเด็นแก่นโลกหยุดหมุน อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ น้อยสกุล ได้พาผู้ฟังไปทำความเข้าใจแก่นโลก และข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า โลกและแก่นโลกชั้นในไม่ได้เกิดขึ้นมาพร้อมกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าโลกของเราเกิดขึ้นเมื่อ 4,500–5,000 ล้านปีก่อน แต่แก่นโลกชั้นในเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 1,000–1,300 ล้านปีก่อน โดยก่อนหน้าที่จะมีแก่นโลกชั้นในสนามแม่เหล็กโลกอ่อนกว่าปัจจุบันมาก หลังเกิดการตกผลึกของแก่นโลกชั้นในจากด้านในสู่ด้านนอก ในทำให้สนามแม่เหล็กโลกเริ่มเข้มแข็งขึ้น เกิดการเคลื่อนที่ตัวของเปลือกโลก ซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิต

จากนั้นจึงเจาะลึกถึง ‘วิทยาแผ่นดินไหว’ หนึ่งในศาสตร์ทางธรณีฟิสิกส์ ที่ศึกษา ‘คลื่นไหวสะเทือนพื้นดิน’ (Seismic waves) จากแผ่นดินไหวเพื่อทำความเข้าใจความลับของแก่นโลก ซึ่งเป็นวิธีวิจัยที่ถูกกล่าวถึงในข่าวแก่นโลกหยุดหมุนที่ถูกนำเสนอข่าวไปทั่วโลก โดยอธิบายว่า แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรเกียร์ซึ่งเกิดขึ้นที่ระดับความลึกประมาณ 8 กิโลเมตร จะไม่สามารถบ่งบอกสภาพของแก่นโลกได้ เพราะการศึกษาแก่นโลกจะต้องอาศัยคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดในระดับความลึกประมาณ 400 กิโลเมตรเป็นต้นไป นักวิทยาศาสตร์พบว่าพื้นที่บริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวระดับลึกบ่อยครั้งส่วนมากจะอยู่ในบริเวณทวีปอเมริกาใต้ และ ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกซึ่งแทบจะไม่สร้างความเสียหายต่อมนุษย์

โดยคลื่นไหวสะเทือนพื้นดินจะมี 2 รูปแบบ คือคลื่นตามยาวหรือ ‘P wave’ ซึ่งมีความเร็วสูงและเดินทางผ่านตัวกลางได้ทั้งของแข็งและของไหล กับคลื่นตามขวางหรือ ‘S wave’ ซึ่งมีความเร็วช้ากว่า และเดินทางผ่านของแข็งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเกิดแผ่นดินไหวหรือระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดคลื่น คลื่นเหล่านี้จะเดินทางทะลุผ่านโลกจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งทำให้เราสามารถตรวจจับสัญญาณได้นั่นเอง และด้วยตัวคุณสมบัติและการคลื่นที่ผ่านแก่นโลกของคลื่นทั้ง 2 ชนิด ที่ต่างกัน ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้แก่นโลกชั้นนอกที่มีคุณสมบัติเป็นของเหลวเนื่องจาก S-wave ไม่สามารถเคลื่อนที่ผ่านได้ และ และแก่นโลกชั้นในที่เกิดการตกผลึกเป็นของแข็งและมีคุณสมบัติคล้ายคริสตัลอยู่ด้วย

เมื่อ S wave เจอเข้ากับของเหลวก็เกิดการเบี่ยงเบนออกไป เหลือเพียง P wave ที่นำข้อมูลโครงสร้างของแก่นโลกชั้นในกลับออกมาด้วย โดยข้อมูลจากแผ่นดินไหวระดับลึกที่เกิดขึ้นต่างสถานที่และต่างเวลาจะมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกัน ข้อมูลที่จะนำมาใช้วิเคราะห์จึงต้องเป็นข้อมูลของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในบริเวณใกล้เคียงกันแต่ต่างเวลา จึงจะสามารถนำมาเปรียบเทียบดูการเปลี่ยนแปลงของแก่นโลกได้

จากข้อมูลที่ได้จาก P wave พบว่าคลื่นเดินทางผ่านแก่นโลกชั้นในจากทิศเหนือไปใต้ได้เร็วกว่าทิศตะวันออกไปตะวันตก และและมีโครงสร้างแก่นโลกชั้นในแบ่งซีกเป็นตะวันออกและซีกตะวันตก โดยซีกที่คลื่นเดินทางเร็ว–ช้า ไม่ได้แบ่งออกเป็น 2 ซีกไม่เท่ากัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งสมมติฐานไว้ 2 รูปแบบ แบบแรกเสนอว่าบริเวณที่คลื่นมีความเร็วสูงมีรูปร่างคล้ายลูกตา ส่วนแบบที่สองมีรูปร่างคล้ายลิ่มบนลูกบอลชายหาด

ในประเด็นนี้มีจุดที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยตั้งอยู่บริเวณยอดแก่นโลกชั้นในของฝั่งตะวันออก ซึ่งสามารถรับสัญญาณคลื่นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบริเวณทวีปอเมริกาใต้ได้ กลุ่มวิจัยธรณีฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ. ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ ภาคฟิสิกส์ จึงร่วมกับนักวิจัยจาก JAMSTEC, Earthquake Research Institute, The University of Tokyo และ Geological Survey of Japan ศึกษาการแบ่งซีกของโครงสร้างแก่นโลกชั้นใน (Quasi-Hemispherical inner core) ภายใต้โครงการ ‘Thai Seismic Array (TSAR)’ โดยออกแบบและติดตั้งเครื่องวัดสัญญาณแผ่นดินไหวระดับลึก ในพื้นที่ประเทศไทย พร้อมซ่อมบำรุง เก็บข้อมูล เชื่อมต่อ และประเมินผลข้อมูลเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยการศึกษาพบว่าแก่นโลกชั้นในน่าจะมีการแบ่งฝั่งคลื่นที่เร็ว–ช้าของคลื่นเป็นแบบลูกตาตามสมมติฐานแรก

และจากคุณสมบัติและธรรมชาติของแก่นโลกชั้นในหลาย ๆ ข้อ ก็มีข้อสงสัยว่าภายในแก่นโลกชั้นใน อาจจะมีแก่นของแก่นโลกชั้นในอยู่อีกก็เป็นได้ ซึ่งประเด็นนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงนักธรณีฟิสิกส์

ส่วนเรื่องการหมุนของแก่นโลกชั้นใน นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าแก่นโลกมีการหมุนจากการวิเคราะห์ข้อมูลการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ซ้ำ ๆ ในสมัยสงครามเย็น และข้อมูลจากแผ่นดินไหวระดับลึกขนาดใกล้เคียงกัน บริเวณเดียวกัน ในต่างช่วงเวลา ที่เผยให้เห็นว่าแก่นโลกชั้นในมีการหมุน หรือตกผลึกเพิ่มขึ้น โดยสันนิษฐานว่าที่แก่นโลกชั้นในหมุนได้เกิดการต้านกันระหว่างแรงโน้มถ่วงของโลกที่ล็อกให้วัตถุต่าง ๆ เช่น ดวงจันทร์หมุนรอบโลก และแรงแม่เหล็กไฟฟ้าจากสนามแม่เหล็กในแก่นโลก แต่ก็ยังไม่มีการสรุปที่แน่ชัด

ปัจจุบันมีแนวคิดเรื่องการหมุนของแก่นโลกชั้นในหลายแนวคิด โดยที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ แนวคิดว่าแก่นโลกหมุนไป–กลับ เร็วกว่าบ้าง ช้ากว่าบ้าง (Oscillation) ซึ่งงานวิจัยแก่นโลกชั้นในหยุดหมุนที่ได้รับความสนใจในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก็เสนอข้อมูลสนับสนุนแนวคิดนี้ว่า แก่นโลกชั้นในมีการหมุนไป – กลับ แต่เปลี่ยนรอบการหมุนทุก ๆ 60 ปี ซึ่งเป็นข้อมูลใหม่ ต่างจากเดิมที่เชื่อว่าโลกมีการเปลี่ยนรอบการหมุนทุก ๆ 20 ปี

ทั้งนี้ การที่แก่นโลกชั้นในหยุดหมุนนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง พบว่าแก่นโลกชั้นในมีความเปลี่ยนแปลงเรื่อย ๆ ก่อนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง ค.ศ. 2010 แล้วกลับมามีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ซึ่งหากเราคิดตามแนวคิดที่ว่าแก่นโลกชั้นในมีรอบการหมุนเปลี่ยนจากหมุนเร็วเป็นหมุนช้า นั่นหมายความว่า จะมีช่วงหนึ่งที่แก่นโลกชั้นในหมุนและโลกหมุนไปพร้อม ๆ กันจึงทำให้ดูเหมือนแก่นโลกชั้นในหยุดนิ่งนั่นเอง

สำหรับผลกระทบที่หลายคนเป็นกังวลเมื่อแก่นโลกหยุดหมุน อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่ได้สิ่งผลต่อสิ่งมีชีวิตบนผิวโลกแต่อย่างใด เห็นได้จากเมื่อ 60 ปีก่อน เราไม่พบรายงานข่าวเหตุการณ์ธรณีพิบัติครั้งใหญ่เกิดขึ้นเลย แต่เรื่องที่ชัดเจนคือ การหมุนของแก่นโลกชั้นในบังเอิญไปสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงความยาวของระยะเวลา 1 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเอง หากเราเทียบเวลากับนาฬิกาอะตอมซึ่งมีความเที่ยงตรงสูงมาก จะพบว่าในอดีต 1 วัน ไม่ได้มีระยะเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม โดยมีเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง อยู่ประมาณ 0.5 มิลลิวินาที เนื่องจากโลกหมุนช้าลง องค์กรที่ดูแลเรื่องการเทียบเวลาจึงต้องเพิ่มเวลา (Leap second) ให้ครบ 24 ชั่วโมง ซึ่งตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972–2023 มีการทดเวลาเพิ่มให้เราไปแล้ว 37 วินาที ครั้งสุดท้ายที่ทดเวลาให้คือปี ค.ศ. 2016 และหยุดเพิ่มเวลาไปกว่า 7 ปีแล้ว ซึ่งไปตรงกับข้อมูลของแก่นโลกชั้นในในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ที่ชี้ว่ามีการหมุนน้อยมาก ๆ จนแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันข้อมูลบ่งชี้ว่าแก่นโลกชั้นในกำลังหมุนย้อนกลับ ซึ่งอาจทำให้เวลา 1 วัน น้อยกว่า 24 ชั่วโมงและต้องลบเวลาที่เกินออกในอนาคต

นอกจากนั้น ดร.ธวัช ได้เสริมเพิ่มเติมถึงโอกาสที่สนามแม่เหล็กโลกจะเปลี่ยนจากทิศจากเหนือเป็นใต้ว่า ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับอิทธิพลของแรงภายในแก่นโลกชั้นนอก และอิทธิพลของดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลก แต่ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน มีหลักฐานจากการศึกษาพื้นมหาสมุทรพบว่าเคยมีการกลับทิศเหนือใต้มาก่อนด้วย โดยครั้งล่าสุดที่มีการเปลี่ยนแปลงคือเมื่อ 780,000 ปีก่อน และใช้เวลาในช่วงเปลี่ยนผ่านโดยเฉลี่ยยาวนานกว่า 7,000 ปี 

และที่สำคัญการหยุดหมุน และหมุนย้อนกลับของแก่นโลกชั้นใน ไม่ใช่สาเหตุของการเกิดแผ่นดินไหวที่เปลือกโลก แก่นโลกเพียงส่งต่อพลังงานให้เนื้อโลกและเปลือกโลกมีการเคลื่อนไหวเท่านั้น อาจารย์ ดร.สุทธิพงษ์ ยืนยัน

ในตอนท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้งสามท่านได้ตอบคำถามจากผู้ชมออนไลน์ ก่อนฝากทิ้งท้ายว่า แก่นโลกยังคงมีปริศนามากมายที่ต้องการคนมาช่วยไขคำตอบ หากน้อง ๆ นักเรียน นักศึกษาคนไหนสนใจเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านธรณีฟิสิกส์ และอยากความลับของแก่นโลก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลยินดี ต้อนรับทุกคน

Mahidol Science Café: Astrophysics and Space Science Projects in Korea and Thailand

Mahidol Science Café: Astrophysics and Space Science Projects in Korea and Thailand

14 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ตอน Mahidol Science Cafe: Astrophysics and Space Science Projects in Korea and Thailand เปิดเวทีพูดคุยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการดาราศาสตร์ฟิสิกส์และอวกาศในเกาหลีและไทย ทิศทางการวิจัย และการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศในอนาคต รวมถึงสร้างความเข้าใจ และเพิ่มการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์และอวกาศ แก่ประชาคมอาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจด้านวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย เนื่องในโอกาสที่คณะผู้บริหารจาก Korea Astronomy & Space Science Institute (KASI) เดินทางเยือนประเทศไทย ณ ห้องประชุม K102 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

ในการเสวนาครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก Dr. Young-Deuk Park, President of Korea Astronomy and Space Science Institute, ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมทั้งแบบ On-site และ Online รวมกว่า 28 คน

โดย Dr. Young-Deuk Park ได้บรรยายเกี่ยวกับภาพรวมการดำเนินงานของ KASI สถานีสังเกตการณ์และเครื่องมือในการศึกษาวิจัย ซึ่งประกอบด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่าง ๆ และเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ที่สามารถใช้เทคนิคการแทรกสอดระยะไกล หรือ VLBI (Very Long Baseline Interferometer) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถถ่ายภาพวัตถุที่อยู่ห่างไกลโลกมาก ๆ ได้โดยอาศัยการทำงานของกล้องโทรทรรศน์วิทยุคลื่นความถี่สูงซึ่งตั้งอยู่ห่างกันในหลายพื้นที่ทำการบันทึกสัญญาณพร้อมๆ กันทุกวันเป็นระยะเวลาหนึ่ง ก่อนประมวลผลภาพเข้าด้วยกัน เพื่อศึกษาวัตถุและปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ได้ดียิ่งขึ้น

รวมถึงภารกิจในการค้นคว้าสิ่งที่เราไม่รู้จักในจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินการโดยหน่วยวิจัยของ KASI ทั้งหมด 8 หน่วยด้วยกัน ได้แก่

  1. Optical Astronomy Division
  2. Radio Astronomy Division
  3. Space Science Division
  4. Center for Large Optical Telescopes
  5. Center for National Space Surveillance
  6. Center for Theoretical Astronomy
  7. Center for Historical Astronomy
  8. Technology Center for Astronomy and Space Science

ปัจจุบัน KASI มีผลงานวิจัย รวมถึงโครงการวิจัยด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์และอวกาศต่าง ๆ ที่โดดเด่นมากมาย เช่น

  • สามารถสังเกตพบซูเปอร์โนวา SN 2018aoz หลังการระเบิดเพียง 1 ชั่วโมง ด้วยเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ Korea Microlensing Telescope Network หรือ KMTNet ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565
  • เข้าร่วมเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์อีเวนต์ฮอไรซัน (Event Horizon Telescope: EHT) ซึ่งเป็นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่สูง ช่วง 230-450 GHz ในการถ่ายภาพหลุมดำ Sagittarius A ใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก
  • พัฒนา CTR (Compact, Triple-band Receiver) ซึ่งเป็นการย่อขนาดระบบกล้องโทรทรรศน์วิทยุสังเกตการณ์แบบพร้อมกัน (Simultaneous Observation Radio Telescope System) ให้มีขนาดกะทัดรัดอย่างเห็นได้ชัดสำเร็จเป็นเครื่องแรกของโลก
  • พัฒนาห้องสุญญากาศแช่แข็งที่ตรวจสอบประสิทธิภาพของ SPHEREx (Spectro-Photometer for the History of the Universe, Epoch of Reionization, and Ices Explorer) ในภารกิจกล้องโทรทรรศน์อวกาศขนาดกลางของ NASA เพื่อสำรวจสเปกตรัมของท้องฟ้าในช่วงคลื่นใกล้อินฟราเรดทั้งหมด
  • สังเกตการณ์สภาพอากาศในอวกาศในภารกิจ SNIPE
  • ศึกษากราฟสุริยะสำหรับสถานีอวกาศนานาชาติในโครงการ CODEX

เป็นต้น

ในอนาคต KASI กำลังพัฒนา LUSEM (Lunar Space Environment Monitor) สำหรับตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงที่สูงกว่า 50 keV บนพื้นผิวดวงจันทร์เพื่อการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในอวกาศ ส่วนหนึ่งใน Artemis Project ของ NASA ซึ่งจะส่งขึ้นไปยังดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2567 นอกจากนั้นยังได้วางแผนจะสังเกตการณ์สภาพอวกาศขณะที่โลกอยู่ที่ตำแหน่ง L4 ขณะโคจรรอบดวงอาทิตย์ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการพยากรณ์สภาพอวกาศ ความปลอดภัยจากรังสีในการสำรวจอวกาศ โดยได้ส่งสมุดปกขาวไปยัง NASA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักวิทยาศาสตร์ในการเข้าร่วมโครงการวิทยาศาสตร์ที่สำคัญมากขึ้น ซึ่ง Dr. Park ได้เผยถึงความสนใจในการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างประเทศไทยและประเทศเกาหลีใต้เพื่อยกระดับการวิจัยด้านดาราศาสตร์อวกาศให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นด้วย

ด้าน ดร.ศุภชัย อาวิพันธุ์ ได้บรรยายเกี่ยวกับภารกิจของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NARIT ที่มุ่งเน้นการศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และอวกาศ ดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการทั้งหมด 5 ห้องปฏิบัติการ ประกอบด้วย
  • ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์
  • ศูนย์ปฏิบัติการดาราศาสตร์วิทยุ
  • ห้องปฏิบัติการแมคคาทรอนิกส์
  • ห้องปฏิบัติการขึ้นรูปชิ้นงานความละเอียดสูง และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่งศึกษาครอบคลุมใน 6 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่
    • การศึกษาวัตถุใกล้โลก สภาพอวกาศ และภูมิอากาศของโลก
    • ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ดาวฤกษ์
    • การศึกษาดาวเคราะห์และสิ่งมีชีวิตนอกระบบสุริยะ
    • การศึกษาวิจัยจักรวาลวิทยาและฟิสิกส์ดาราศาสตร์พลังงานสูง
    • การวิจัยฟิสิกส์ดาราศาสตร์วิทยุ
    • ประวัติศาสตร์ดาราศาสตร์และมรดก
นอกจากนั้นยังมุ่งพัฒนาและส่งต่อเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ รวมถึงมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับดาราศาสตร์ผ่านกิจกรรมนิทรรศการต่าง ๆ และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

พร้อมทั้งแนะนำเครื่องมือต่าง ๆ ของ NARIT ซึ่งประกอบด้วยหอสังเกตการณ์และกล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดต่าง ๆ ในประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายดาราศาสตร์วิทยุและการพัฒนามาตรวิทยา ซึ่งมีความร่วมมือกันระหว่างกล้องโทรทรรศน์ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เครือข่าย TRT (Thai Robotic Telescope Network), เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ VLBI ที่ประเทศไทยเข้าร่วม เป็นต้น

ที่ผ่านมา NARIT มีผลงานการค้นพบ และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการต่อยอดในเชิงพาณิชย์หลายผลงาน อาทิ

  • ค้นพบระบบดาวเคราะห์น้อย 130 Elektra ในแถบดาวเคราะห์น้อย นับเป็นการค้นพบระบบดาวเคราะห์น้อยที่มีดวงจันทร์บริวารถึง 3 ดวง (quadruple asteroid system) เป็นครั้งแรกของโลก
  • ร่วมค้นพบสัญญาณที่คาดว่ามาจากดาวเคราะห์ใหม่ในระบบ HAT-P-37b
  • ร่วมค้นพบหนึ่งในกาแล็กซีที่ไกลที่สุดด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์
  • พัฒนาตัวรับสัญญาณของกล้องโทรทรรศน์วิทยุแบบ L-Band และ K-Band ทำให้กล้องโทรทรรศน์วิทยุแห่งชาติจับสัญญาณพัลซาร์ B0329+54 ในไทยได้เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา
  • ออกแบบและพัฒนาระบบควบคุมการทำงานของกล้องโทรทรรศน์ ระบบจัดลำดับการถ่ายภาพ ระบบตรวจสอบสถานะการทำงาน ระบบการรายงานการใช้งาน ฯลฯ ให้สามารถสั่งการและรายงานผลการใช้งานผ่านระบบอัตโนมัติบน Website ของ NARIT
  • พัฒนาเครื่อง Nasal Oxygen High Flow และกล้องโทรจุลทรรศน์อิเล็กตรอน SEM ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วยเทคโนโลยีของ NARIT ได้สำเร็จ
สำหรับอนาคต NARIT ได้ร่วมมือกับ 12 สถาบันพันธมิตร ในนามภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium) พัฒนาดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งมีกำหนดจะส่งขึ้นไปโคจรรอบโลก ในปี พ.ศ. 2568 โดยโครงการนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เป็นหนึ่งในสถาบันเครือข่าย ที่รับผิดชอบในส่วนของ Payload ตรวจวัดสภาพอวกาศ และเตรียมการสำหรับโครงการ TSC-2 ภารกิจดวงจันทร์ภารกิจแรกของประเทศไทย ซึ่งมีแผนจะส่งขึ้นไปโคจรรอบดวงจันทร์ในปี พ.ศ. 2570

ปิดท้ายด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้กล่าวแนะนำทีมนักฟิสิกส์อวกาศและอนุภาคพลังงานสูงของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติ ที่ร่วมกันศึกษารังสีคอสมิกซึ่งก็คืออนุภาคพลังงานสูงในอวกาศ รังสีคอสมิกบางส่วนมาจากการระเบิดเป็นครั้งคราวที่ผิวดวงอาทิตย์ หรือพายุสุริยะ ซึ่งส่งผลกระทบทาง ‘สภาพอวกาศ’ และคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ หรือแม้แต่ผู้โดยสารเครื่องบินบริเวณขั้วโลก สามารถสร้างความเสียหายต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์บนดาวเทียมและยานอวกาศ อาจมีผลต่อการทำงานของหม้อแปลง ทำให้ไฟฟ้าดับบนโลกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาลได้

ทีมวิจัยได้ทำการศึกษารังสีคอสมิกหลายผลงานเช่นกัน ทั้งในส่วนของทฤษฎี การทดลอง และการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น

  • คิดทฤษฎีและการวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนที่ของรังสีคอสมิกมายังโลกท่ามกลางความปั่นป่วนของลมสุริยะ การเร่งอนุภาคที่คลื่นกระแทกจากพายุสุริยะ และวิธีบ่งชี้ล่วงหน้าก่อนอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จะมาถึงโลกและส่งผลกระทบทางสภาพอวกาศต่อกิจกรรมของมนุษย์
  • ตั้งสถานีตรวจวัดนิวตรอนสิรินธร ณ ยอดดอยอินทนนท์ เพื่อวัดอนุภาคและพลังงานของรังสีคอสมิกต่อเวลา ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความพิเศษอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยอยู่ตรงกับตำแหน่งของสนามแม่เหล็กโลกที่อนุภาคประจุจากอวกาศจะเคลื่อนที่ผ่านลงมาถึงชั้นบรรยากาศโลกได้ยาก อนุภาครังสีคอสมิกที่สามารถแตกตัวลงมายังพื้นที่ประเทศไทยจึงต้องมีพลังงานสูงมาก โดยต้องมีพลังงานอย่างน้อย 17 GeV ซึ่งเป็นค่าพลังงานขั้นตํ่าที่สูงที่สุดในโลก
  • ทีมวิจัยได้รับการสนับสนุนระยะ 10 ปีจาก Australian Antarctic Division (AAD) เพื่อดูแลและปรับปรุงเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและอนุภาคมิวออน ณ Mawson Station ทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นการส่งออกเทคนิคที่ทีมวิจัยพัฒนาในไทยไปสู่ต่างประเทศ พร้อมกับเก็บข้อมูลอนุภาคนิวตรอนในบริเวณที่มีค่าพลังงานขั้นตํ่าที่ยอมให้รังสีคอสมิกผ่านสนามแม่เหล็กโลกต่ำที่สุดในโลก
  • เข้าร่วมในโครงการ LHAASO ซึ่งมีเครื่องวัดรังสีคอสมิกยักษ์ใหญ่ ขนาดกว่า 1 ตร.กม. ใน ประเทศจีน โดยวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อศึกษารังสีคอสมิกพลังงานสูงมาก
  • ร่วมวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน Parker Solar Probe (PSP) ขององค์กร NASA ซึ่งเป็นยานแรกที่ “สัมผัส” ดวงอาทิตย์ และเสนอทฤษฎีอธิบายความปั่นป่วนอันสูงในลมสุริยะ เนื่องจากความไม่เสถียรที่เกิดจากความเฉือนระหว่างเชือกฟลักซ์ต่าง ๆ ในลมสุริยะ ซึ่งได้รับความสนใจและแข่งขันอยู่กับทฤษฎีอื่น ๆ อีกด้วย

สำหรับทิศทางการวิจัย ขณะนี้ทีมวิจัยในฐานะส่วนหนึ่งของ Thai Space Consortium กำลังสร้างเครื่องวัดรังสีคอสมิกขนาดเล็ก เพื่อติดตามผลกระทบของพายุสุริยะต่อกัมมันตรังสีรอบโลก สำหรับดาวเทียมวิจัยดวงแรกของไทย (Thai Space Consortium 1 หรือ TSC-1) ซึ่งวางแผนว่าจะโคจรข้ามขั้วโลกในปีอีก 3 ปีข้างหน้า และในระยะต่อไปก็ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องวัดรังสีคอสมิกสำหรับยาน TSC-2 ยานอวกาศที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ซึ่งประเทศไทยมีแผนที่จะพัฒนาขึ้นภายใน 7 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการศึกษาอนุภาครังสีคอสมิกจากภาคพื้นดินสู่อวกาศ และยังมีแผนจะต่อยอดการวิเคราะห์ข้อมูลจากยาน PSP ขององค์กร NASA เพิ่มเติม ขณะยานนี้เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ พร้อมกับข้อมูลจากยานอวกาศอื่น ๆ ในอนาคต

Nobel Prize in Mahidol Science Cafe Vol.3 หัวข้อ Spooky action at a distance: quantum entanglement that frightened Einstein wins 2022 Nobel prize in Physics เจาะลึกวิวัฒนาการทฤษฎีควอนตัมและการประยุกต์ใช้

Nobel Prize in Mahidol Science Cafe Vol.3 หัวข้อ Spooky action at a distance: quantum entanglement that frightened Einstein wins 2022 Nobel prize in Physics เจาะลึกวิวัฒนาการทฤษฎีควอนตัมและการประยุกต์ใช้

31 ตุลาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Nobel Prize in Mahidol Science Cafe Vol.3 หัวข้อ Spooky action at a distance: quantum entanglement that frightened Einstein wins 2022 Nobel prize in Physics แบบ Hybrid ปิดท้ายเสวนาซีรีส์โนเบลประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านควอนตัม ศิษย์เก่าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ ดร. ธนภัทร์ ดีสุวรรณ จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ดร.เอกรัฐ พงษ์โอภาส และ ดร. รุจิภาส บวรทวีปัญญา จากสาขาวิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ดร.ฟัตต๊ะห์ สกุลดี จาก International Centre for Theory of Quantum Technologies (ICTQT), University of Gdansk, Poland ร่วมพูดคุยเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องราวการวิจัย และสาระน่ารู้ของปรากฏการณ์ความพัวพันเชิงควอนตัมของคู่อนุภาคที่อยู่ห่างกัน (quantum entanglement) ซึ่งขัดกับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ สุวรรณะ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ ห้องประชุม K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live โดยมีผู้รับชมรวมกว่า 50 คน

ในการเสวนา ดร. ธนภัทร์ ดีสุวรรณ ได้เล่าพื้นฐานแนวคิดของทฤษฎีควอนตัมว่า เป็นทฤษฎีที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์ในระบบขนาดเล็ก ๆ เช่น ชั้นพลังงานของอะตอม การเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน เป็นต้น โดยเปลี่ยนมุมมองว่าอนุภาคสามรถประพฤติตัวเป็นคลื่นได้ ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจพฤติกรรมของสิ่งเล็ก ๆ ได้ดียิ่งขึ้น แต่ทฤษฎีนี้กลับไม่สามารถระบุตำแหน่งและการเคลื่อนที่ที่ชัดเจนของสิ่งที่เราสนใจศึกษาได้ โดยบอกได้เป็นค่าความน่าจะเป็นเสมอ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนรวมถึง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) คิดว่าทฤษฎีควอนตัมนั้นไม่ผิดแต่เป็นทฤษฎีที่ไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมองว่าทฤษฎีที่สมบูรณ์จะต้องบอกค่าของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน นำไปสู่การร่วมกับนักฟิสิกส์อีก 2 ท่านคือ บอริส โพโดลสกี้ (Boris Podolsky) และ นาธาน โรเซน (Nathan Rosen) เรียกชื่อทั้ง 3 ท่านย่อ ๆ ว่า EPR เสนอการทดลองเชิงความคิดเพื่อพิสูจน์ว่าทฤษฎีควอนตัมนั้นไม่สมบูรณ์ ซึ่งแม้ว่าข้อโต้แย้งของไอน์สไตน์นั้นจะค่อนข้างน่าเชื่อถือและสอดคล้องกับสามัญสำนึกปรกติ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะแสดงอย่างไร้ข้อโต้แย้งได้อยู่ดีว่าธรรมชาติไม่ได้เป็นไปตามที่ทฤษฎีควอนตัมบรรยาย เพราะผลจากการทดลองเชิงความคิดของไอน์สไตน์และแบบควอนตัมนั้นยังคงสอดคล้องกันทุกประการ และทำให้การถกเถียงเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของทฤษฎีควอนตัมนั้นกลายไปเป็นคำถามเชิงปรัชญาเพราะไม่มีใครหาวิธีทำการทดลองจริงเพื่อพิสูจน์ได้ว่าแนวคิดแบบใดกันแน่ที่ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติจริง ๆ

เวลาผ่านไปกว่า 29 ปี จอห์น สจวร์ต เบลล์ (John Stewart Bell) นักฟิสิกส์ชาวไอร์แลนด์เหนือ จึงได้นำเสนอการทดลองเชิงความคิดขึ้นมาและนำมาสู่การสร้างเป็นอสมการของเบลล์ (Bell’s inequality) ที่ทำให้สามารถแยกคำอธิบายแต่ละแบบออกจากกันได้ และเป็นการทำให้คำถามเชิงปรัชญากลับมาเป็นวิทยาศาสตร์อีกครั้ง แต่ในตอนนั้นก็ยังไม่มีการทดลองจริง ๆ เกิดขึ้น

จนกระทั่งปี ค.ศ. 1972 ดร.จอห์น ฟรานซิส เคลาเซอร์ (John F. Clauser) นักฟิสิกส์ทฤษฎีและการทดลองชาวอเมริกัน ได้พัฒนาแนวคิดจากอสมการของเบลล์สู่การทดลองจริงได้เป็นครั้งแรก และชี้ให้เห็นว่าทฤษฎีควอนตัมเป็นจริง ซึ่งผลงานนี้ทำให้ ดร.เคลาเซอร์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปีนี้นั่นเอง

ดร.เอกรัฐ พงษ์โอภาส ได้อธิบายงานของ ดร. เคลาเซอร์ ที่แยกอนุภาคของแสงจากอะตอมของแคลเซียมเป็น 2 อนุภาค เพื่อทำการวัดค่า spin ซึ่งเป็นสมบัติโมเมนตัมการหมุนของอนุภาค และพบว่าเมื่อเราวัดอนุภาคตัวหนึ่งได้ค่า spin up อีกอนุภาคจะได้ค่า spin down ทันที ซึ่งตรงตามที่ทฤษฎีควอนตัมทำนาย ทั้งยังเป็นการยืนยันว่าความพัวพันทางควอนตัมมีอยู่จริง โดยการความรู้ถึงสถานะของอนุภาคนี้ดูเหมือนมีความเร็วมากกว่าแสง ซึ่งขัดกับสิ่งที่ทฤษฎีสัมพันธภาพของไอน์สไตน์กล่าวไว้ และการทดลองนี้ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้สงสัยได้ว่าเครื่องวัดอนุภาคมีการส่งสัญญาณถึงกันได้ มากกว่าจะผลการทดลองจะมาจากความพัวพันจริง ๆ

ต่อมาในปี ค.ศ. 1982 ศาสตราจารย์ อาลอง แอสเปต์ (Alain Aspect) นักฟิสิกส์เชิงทดลองชาวฝรั่งเศส จากมหาวิทยาลัยปารีส-ซาเคลย์ของฝรั่งเศส ได้ทำการทดลองซึ่งปิดช่องโหว่นี้ลงได้สำเร็จโดยสร้างเครื่องมือเพื่อสลับการวัดสภาวะโพลาไรเซชั่น (polarization) ของอนุภาคแสง (photon) ให้เร็วกว่าที่สัญญาณระหว่างเครื่องวัดทั้งสองจะส่งถึงกันได้ จึงทำให้ ศาสตราจารย์แอสเปต์ ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปีนี้ จากการปิดช่องโหว่นี้ และยืนยันความพัวพันทางควอนตัมเช่นกัน

จึงทำให้สรุปได้ว่าเมื่อเราแยกอนุภาคของแสงออกจากกันและทำการวัดค่าของอนุภาคตัวหนึ่ง ค่าของอนุภาคอีกตัวจะเปลี่ยนเป็นอีกค่าทันที ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการนำไปพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมที่น่าทึ่ง

และต่อมา ศาสตราจารย์ แอนทัน ไซลิงเงอร์ (Anton Zeilinger) จากมหาวิทยาลัยเวียนนาของออสเตรีย ได้ขยายผลทฤษฎีควอนตัมสู่การประยุกต์ใช้ ผ่านการสาธิตแนวคิดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายสถานะทางควอนตัม (quantum teleportation) จึงเป็นเหตุให้ ศาสตราจารย์ไซลิงเงอร์ ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้จากการประยุกต์ใช้ทฤษฎีควอนตัม

ในประเด็นนี้ ดร.ฟัตต๊ะห์ สกุลดี ได้อธิบายแนวคิดว่าในการเคลื่อนย้ายสถานะทางควอนตัมว่า เราไม่สามารถส่งต่อข้อมูลต้นฉบับโดยคัดลอกข้อมูลเหมือนการถ่ายเอกสารได้ แต่สามารถส่งต่อข้อมูลคล้ายกับการส่ง Fax โดยเมื่อส่งต่อข้อมูลไปยังปลายทางแล้ว ข้อมูลที่ต้นทางจะหายไป ทำให้การส่งต่อข้อมูลนั้นมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยมากขึ้น

ปิดท้ายด้วย ดร.รุจิภาส บวรทวีปัญญา ได้เล่าถึงการประยุกต์ใช้ทฤษฎีควอนตัมเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต โดยใช้ประโยชน์จาก quantum entanglement ในด้านต่าง ๆ เช่น quantum Sensing ซึ่งจะช่วยให้การรับ-ส่ง สัญญาณมีความแม่นยำขึ้น ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงเทคโนโลยี GPS ให้มีความแม่นยำมากขึ้นในอนาคต, quantum Internet ทำให้เราสามารถส่งข้อมูลได้อย่างปลอดภัยและกว้างไกลขึ้น ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเองก็ได้มีการพัฒนาโปรแกรมที่ชื่อว่า qwanta สำหรับจำลอง quantum Internet และ quantum algorithm ซึ่งทำให้เราสามารถจำลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพการทำงานของ quantum internet ได้แม่นยำมากขึ้น และเพื่อใช้ในการออกแบบ quantum internet เป็นต้น

ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้น จะเห็นได้ว่าการพัฒนาทฤษฎีควอนตัมจากแนวคิดสู่การประยุกต์ใช้ไม่ได้เกิดจากการคิดค้นของคนเพียงคนเดียว แต่เป็นการสานต่อความรู้หนึ่งสู่ความรู้หนึ่ง จากการที่มนุษย์พยายามดิ้นรนหาคำตอบเพื่อเข้าใจธรรมชาติอย่างแท้จริงนั่นเอง

Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party

Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party

8 พฤศจิกายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Mahidol Science Café ตอน Blood Moon Party: ลอยกระทงไม่เหงา เพราะเรามาดูจันทรุปราคาด้วยกัน เปิดโอกาสให้น้อง ๆ นักเรียน นักศึกษา อาจารย์และผู้สนใจร่วมส่องกล้องโทรทรรศน์ดูปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง “จันทร์เพ็ญสีเลือดเดือน 12” ในวันลอยกระทง พร้อมฟังสาระน่ารู้ของปรากฏการณ์จันทรุปราคาและดวงจันทร์ และถามตอบแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์อวกาศ อาทิ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ, อาจารย์ ดร.เพชระ ภัทรกิจวานิช นักฟิสิกส์อวกาศและอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ และทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการฟิสิกส์อวกาศ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ระเบียงหน้าห้อง R603 อาคารวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท โดยกิจกรรมในครั้งนี้มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 104 คน

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล ได้อธิบายเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า “จันทรุปราคา” เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลางและดวงจันทร์จะโคจรเข้ามาในเงาของโลก ขณะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์จะเข้ามาใน “เงามัว” (penumbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์ลดลงไม่มากจากปกติจึงยากจะสังเกตเห็นความแตกต่าง จากนั้นดวงจันทร์ทั้งดวงจะเข้าไปใน “เงามืด” (umbra) ของโลก โดยความสว่างของดวงจันทร์จะลดลงมาก ซึ่งในช่วงเวลานี้เราจะสังเกตเห็นดวงจันทร์มีสีแดงเข้ม เนื่องจากแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกเกิดการหักเหที่ชั้นบรรยากาศของโลกทำให้แสงสีฟ้ากระเจิงออกออกไปเหลือเพียงสีแดง เมื่อแสงนี้ตกกระทบกับดวงจันทร์และสะท้อนกลับมายังโลกอีกครั้ง เราจึงเห็นจันทรุปราคาเป็นสีแดงในทำนองเดียวกันกับที่เราเห็นพระอาทิตย์เป็นสีแดงเมื่อใกล้ลับขอบฟ้า ขณะที่สุริยุปราคานั้น เกิดจากการที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง และโลกจะโคจรเข้ามาในเงาของดวงจันทร์ ทำให้เราเห็นดวงอาทิตย์มีแสงมืดลงนั่นเอง

ส่วนสาเหตุที่ว่าทำไมจึงไม่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาทุกเดือน เนื่องจากเมื่อเราพิจารณาดูระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และระนาบวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลกแบบ 3 มิติ จะพบว่าระนาบวงโคจรของดวงจันทร์ทำมุมกับระนาบของโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์อยู่ 5 องศา เมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์มาโคจรมาอยู่ในเส้นตรงเดียวกัน คือเส้นที่ระนาบของวงโคจรทั้ง 2 ตัดกันจะเกิดเงามืดขึ้นได้ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วช่วงเวลาที่มีโอกาสเกิดจันทรุปราคา และสุริยุปราคา หรือที่เรียกว่า Eclipse seasons จะอยู่ที่ประมาณ 2 ครั้งต่อปี โดยแต่ละครั้งจะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือสุริยุปราคา ประมาณ 2 – 3 ครั้ง ในช่วง 31 – 37 วัน

สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ในปี พ.ศ. 2565 ที่มีความพิเศษและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งตรงกับวันลอยกระทงตามประเพณีไทย และสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากทุกภูมิภาคของประเทศไทย

โดยในช่วงแรกของปรากฏการณ์เกิดขึ้นใต้เส้นขอบฟ้าเราจึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ จากนั้นเมื่อดวงจันทร์เริ่มขึ้นเหนือขอบฟ้าเราจึงสามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวง และช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ลึกที่สุดในเงามืด (greatest eclipse) ในเวลา 17:59 น. แล้วจึงเริ่มออกจากเงามืดบางส่วน (third umbral contact) เป็นการสิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวง เริ่มเข้าสู่จันทรุปราคาบางส่วนเวลา 18:41 น. และออกจากเงามืดทั้งดวง (fourth umbral contact) เวลา 19:49 ก่อนออกจากเงามัวแล้วกลับมาสว่างเต็มดวงตามปกติเป็นการสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเวลา 20:56 น. ปรากฏการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงส่งท้ายปี พ.ศ. 2565 ก่อนที่เราจะไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาได้ในพื้นที่ประเทศไทยเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี เพราะขณะที่เกิดปรากฏการณ์ เวลาท้องถิ่นที่ประเทศไทยจะเป็นกลางวันทั้งหมด โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่สามารถสังเกตเห็นได้จากประเทศไทยครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นตรงกับคืนวันที่ 7 ถึงเช้ามืดวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2568

Nobel Prize in Mahidol Science Cafe Vol.2: สู่ยุคของโมเลกุลเชิงหน้าที่ Click Chemistry and Bioorthogonal Chemistry: Entering the Era of Functionalism

Nobel Prize in Mahidol Science Cafe Vol.2: สู่ยุคของโมเลกุลเชิงหน้าที่ Click Chemistry and Bioorthogonal Chemistry: Entering the Era of Functionalism

31 ตุลาคม 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาพิเศษ Nobel Prize in Mahidol Science Café Vol.2: สู่ยุคของโมเลกุลเชิงหน้าที่ Click Chemistry and Bioorthogonal Chemistry: Entering the Era of Functionalism แบบ Hybrid ซึ่งนับเป็นตอนที่ 2 ของเสวนาซีรีส์โนเบลประจำปี 2565 โดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการสร้างและประยุกต์ใช้ Click Chemistry and Bioorthogonal Chemistry ของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์ ดร.สิทธิวุฒิ เจริญสุทธิวรากุล อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาชีวนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพอัจฉริยะ คณะวิทยาศาสตร์ อาจารย์ ดร.ณัฐวดี ปัญญาอินทร์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.มัทธิว พันชนะ อาจารย์ประจำ ภาควิชาชีวโมเลกุลและพันธุศาสตร์โรคเขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ร่วมพูดคุยเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องราว การวิจัย และสาระน่ารู้ของการพัฒนาคุณสมบัติโมเลกุลและเซลล์ด้วยปฏิกิริยาคลิก ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่ยุคของการศึกษาและสร้างสรรค์โมเลกุลเชิงหน้าที่ ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live โดยมีผู้รับชมรวมกว่า 50 คน

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรียานุช แสงไตรรัตน์นุกูล ได้กล่าวถึงผู้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ในปี ค.ศ. 2022 นี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ มอร์เทน เมลดัล (Morten Meldal) จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนประเทศเดนมาร์ก ศาสตราจารย์ เค. แบร์รี ชาร์ปเลส (K. Barry Sharpless) จากสถาบันวิจัยสคริปส์ประเทศสหรัฐฯ ผู้ศึกษาเกี่ยวกับ “Click Chemistry” หรือ “ปฏิกิริยาคลิก” และ ศาสตราจารย์ คาโรลีน อาร์. เบอร์ทอซซี (Carolyn R. Bertozzi) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดประเทศสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์หญิงผู้ต่อยอดปฏิกิริยาคลิกสู่ศาสตร์ “Bioorthogonal Chemistry” หรือ “เคมีไบโอออร์โทโกนอล” โดยในปีนี้ ศาสตราจารย์ ชาร์ปเลส เป็นบุคคลที่ 5 ตั้งแต่เริ่มมีการประกาศรางวัลโนเบล ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง

ในปี ค.ศ. 2001 Sharpless และผู้ร่วมงานได้ตีพิมพ์แนวคิดของ “ปฏิกิริยาคลิก” ว่าเป็นปฏิกิริยาที่เชื่อมต่อโมเลกุลเข้าด้วยกันอย่างเรียบง่าย รวดเร็ว และมีขอบเขตที่กว้าง โดยไม่ใช้ตัวทำละลาย หรือใช้ตัวทำละลายที่ไม่เป็นพิษ และให้ร้อยละผลิตภัณฑ์สูง ผลพลอยได้จากผลิตภัณฑ์ (by-products) ไม่เป็นพิษ สามารถกำจัดออกได้โดยไม่ต้องใช้เทคนิคในห้องปฏิบัติการทางเคมีเพื่อใช้ในการแยกสารผสม และมีแรงผลักทางพลังงานสูง เปรียบการเชื่อมต่อโมเลกุลเหมือนกับการใส่หัวเข็มขัด และเสียงคลิกคือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น โดยปฏิกิริยาที่เข้าข่ายปฏิกิริยาคลิก ได้แก่ Diels-Alder thiol-ene และ 1,3-dipolar cycloaddition เป็นต้น

ก่อนกล่าวถึงงานวิจัยสำคัญของ เมลดัล และ ชาร์ปเลส ซึ่งได้รับตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2002 ในเวลาใกล้เคียงกัน ที่ศึกษาปฏิกิริยาระหว่างโมเลกุลที่มีหมู่ฟังก์ชัน “อะไซด์” (azide) กับ “อัลไคน์” (alkyne) โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาเป็นไอออนของทองแดง (Cu+) ซึ่งจัดเป็นปฏิกิริยาคลิก โดย เมลดัล ใช้คอปเปอร์ (I) ไอโอไดด์ เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ส่วน ชาร์ปเลส ใช้คอปเปอร์ (II) ซัลเฟต ซึ่งราคาถูกและเสถียรกว่า และเกลือของวิตามินซีเป็นตัวรีดิวซ์ เพื่อให้ตัวเร่งปฏิกิริยา Cu+ ในสารละลาย และได้เรียกชื่อปฏิกิริยาว่า Cu-Catalyzed Azide–Alkyne Cycloaddition หรือ CuAAC ผลการศึกษาของทั้ง 2 กลุ่มวิจัย พบว่าปฏิกิริยามีประสิทธิภาพสูง เหมาะกับการเติมหมู่ฟังก์ชันหรือสังเคราะห์วัสดุใหม่ ๆ เนื่องจากปฏิกิริยา CuAAC ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะหมู่ฟังก์ชัน azide และ alkyne ไม่ซับซ้อน สามารถเติมเข้าไปในโมเลกุลสารตั้งต้นได้ง่าย และตัวเร่งคอปเปอร์มีความเรียบง่าย ปฏิกิริยาเกิดได้ดี ทำให้ในปัจจุบันปฏิกิริยาคลิก มักสื่อถึงปฏิกิริยา CuAAC ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงมีหลายปฏิกิริยาที่จัดเป็นปฏิกิริยาคลิกตามที่กล่าวไปข้างต้น

นับจากการค้นพบที่สำคัญของเมลดัลและชาร์ปเลสในปีค.ศ. 2002 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 20 ปี มีผลงานวิจัยเกี่ยวกับปฏิกิริยาคลิกตีพิมพ์เกือบ 10,000 ผลงาน และมีการนำไปใช้ในการศึกษาวิจัยหลายด้าน ทั้งด้านเคมี วิศวกรรมเคมี วัสดุศาสตร์ การสังเคราะห์ยา การแพทย์ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยคณาจารย์ภาควิชาเคมีและนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ก็ได้นำเอาแนวคิดปฏิกิริยาคลิกมาประยุกต์ใช้กับงานวิจัยด้วยเช่นกัน อาทิ การสร้างระบบเร่งปฏิกิริยาที่สามารถละลายน้ำได้ ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำตัวเร่งปฏิกิริยากลับมาใช้ซ้ำได้ การพัฒนาฟลูออเรสเซนต์เซนเซอร์ และเซนเซอร์เปลี่ยนสีที่มีความจำเพาะสูง เพื่อตรวจวัดไอออนของเหล็ก และคอปเปอร์ รวมถึงตรวจวัดไอออนไซยาไนด์ และคลอไรด์ในน้ำ การสังเคราะห์โมเลกุลขนาดใหญ่และศึกษาสเปซเซอร์ของโมเลกุล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจจับไอออนของไอโอไดด์ และ มาโลเนต เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกล่าวถึงงานวิจัยที่นำปฏิกิริยาคลิกมาพัฒนาระบบนำส่งยาคีโมที่มีความจำเพาะสูงต่อเซลล์มะเร็งบางประเภท การปรับปรุงคุณสมบัติพอลิเมอร์ให้สามารถเชื่อมปิดพื้นผิวบริเวณที่เสียหายเองได้และเรืองแสงแสดงตำแหน่งที่เกิดการขีดข่วน รวมถึงการนำปฏิกิริยาคลิกไปใช้เป็นขั้นตอนสำคัญในการสังเคราะห์ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และยารักษามะเร็งเต้านม เป็นต้น

Nobel Prize in Mahidol Science Café Vol.1: Physiology or Medicine จีโนมมนุษย์โบราณ: ไขปริศนาวิวัฒนาการโฮมินินส์

Nobel Prize in Mahidol Science Café Vol.1: Physiology or Medicine จีโนมมนุษย์โบราณ: ไขปริศนาวิวัฒนาการโฮมินินส์

7 ตุลาคม 2565 กลับมาอีกครั้งกับเสวนาพิเศษ Nobel Prize in Mahidol Science Café ประจำปี 2565 โดยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดตอนแรกของการเสวนาซีรีส์รางวัลโนเบลด้วยสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ Nobel Prize in Mahidol Science Café Vol.1: Physiology or Medicine จีโนมมนุษย์โบราณ: ไขปริศนาวิวัฒนาการโฮมินินส์ แบบ Hybrid ซึ่งได้รับเกียรติจากนักชีววิทยา และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แนวหน้าของประเทศไทย อาทิ ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้แปลหนังสือชื่อดังในหมวดชีววิทยาวิวัฒนาการ เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ (Sapiens: A Brief History of Humankind), กำเนิดสปีชีส์ (The Origin of Species) และ หมู่เกาะมาเลย์ (The Malay Archipelago), อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้แปลหนังสือ กำเนิดสปีชีส์ (The Origin of Species) และ หมู่เกาะมาเลย์ (The Malay Archipelago), และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ คอลัมนิสต์คอลัมน์ทะลุกรอบ หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และคอลัมน์สภากาแฟ นิตยสารสาระวิทย์ ร่วมพูดคุยเจาะลึกเกี่ยวกับเรื่องราวการวิจัย และสาระน่ารู้เกี่ยวกับการศึกษาจีโนมมนุษย์โบราณ ณ ห้อง K102 อาคารเฉลิมพระเกียรติ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท และถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook live โดยมีผู้รับชมรวมกว่า 50 คน
อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน ได้อธิบายเกี่ยวกับการศึกษาจีโนมมนุษย์โบราณในตอนต้นของการเสวนาว่า การสกัดดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมจากสิ่งมีชีวิตว่ายากแล้ว แต่การสกัดดีเอ็นเอจากฟอสซิลเพื่อศึกษานั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้น งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ สวานเต พาโบ (Svante Pääbo) นักพันธุศาสตร์ประจำสถาบันมักซ์พลังก์เพื่อการศึกษามานุษยวิทยาวิวัฒนาการ (MPI-EVA) ของเยอรมนี นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ปี 2022 ซึ่งเป็นผู้ถอดรหัสจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล และค้นพบมนุษย์เดนิโซวา หนึ่งในโฮมินินส์หรือมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว จากการพัฒนาวิธีการสกัดไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอ (Mitochondrial DNA) และนิวเคลียร์ดีเอ็นเอ (nuclear DNA) จากฟอสซิล จึงเป็นเรื่องที่น่าทึ่งเป็นอย่างมาก ซึ่ง ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ได้เสริมถึงขนาดของไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอว่า มีขนาดเพียงราว ๆ 16,000 คู่เบส และมีก๊อปปี้นับพันชุดอยู่ในไซโทพลาสซึมของเซลล์ ในขณะที่จีโนมซึ่งเป็นรหัสพันธุกรรมทั้งหมดมีขนาดใหญ่ถึง 3,000 ล้านคู่เบส อีกทั้งมีเพียงชุดเดียวอยู่ในนิวเคลียส และปัญหาของการสกัดสารพันธุกรรมจากฟอสซิลคือ ดีเอ็นเอมักจะแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย การได้สารพันธุกรรมที่สมบูรณ์จากการสกัดฟอสซิลนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งการเลือกสกัดไมโทคอนเดรียลดีเอ็นเอซึ่งมีจำนวนคู่เบสสั้นกว่าและมีจำนวนก๊อปปี้มากกว่าอย่างมากภายในเซลล์เป็นจึงเป็นวิธีที่ชาญฉลาดในการแก้ไขปัญหานี้

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจได้เล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจในการศึกษาจีโนมมนุษย์โบราณของ ศาสตราจารย์ สวานเต ว่าเมื่อครั้งทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ด้วยความชื่นชอบเกี่ยวกับมัมมี่อียิปต์ แม้จะทำวิทยานิพนธ์ศึกษาบทบาทของโปรตีนจากไวรัสที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน ศาสตราจารย์พาโบ ได้ทำไซด์โปรเจกต์ทดลองสกัดดีเอ็นเอจากมัมมี่ถึง 23 ร่าง และทำได้ผลสำเร็จ 1 ร่าง ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะทำให้ผลการวิจัยของเขาได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ระดับโลกอย่าง Nature ได้ตั้งแต่ยังเรียนปริญญาเอก หลังจากนั้น ดร.พาโบย้ายไปทำโพสต์ดอกกับศาสตราจารย์แอลลัน วิลสัน มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ซึ่งเชี่ยวชาญมากในการวิเคราะห์วิวัฒนาการและสายสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต ก่อนที่จะย้ายไปรับตำแหน่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมิวนิค ประเทศเยอรมนี หลังจากที่มีกลุ่มวิจัยของตนเอง ศาสตราจารย์พาโบก็มุ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับจีโนมของมนุษย์โบราณนีแอนเดอร์ทัล (Neanderthal) ที่มีความใกล้ชิดกับมนุษย์โฮโมเซเปียนส์ในปัจจุบัน จนกระทั่งสามารถอ่านรหัสจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลทั้ง 3,000 ล้านคู่เบสได้สำเร็จในปี 2010 อีกทั้งยังได้ค้นพบมนุษย์เดนิโซวา (Denisova) ซึ่งเป็นมนุษย์โบราณอีกสายพันธุ์หนึ่งจากฟอสซิลในถ้ำเดนิโซวาของรัสเซีย ที่น่าสนใจก็คือการศึกษาเปรียบเทียบจีโนมของโฮโมเซเปียนส์ กับนีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซวา พบว่าโฮโมเซเปียนส์มียีนของนีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซวา อยู่ด้วย ซึ่ง อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นผลมาจากโครงการแผนที่จีโนมมนุษย์ที่ทำให้ ศาสตราจารย์พาโบ สามารถเทียบดูได้ว่าจีโนมของเรามีความเหมือนและแตกต่างจากมนุษย์โบราณทั้ง 2 กลุ่มตรงไหน อย่างไร นั่นเอง

สำหรับที่มาของการที่มนุษย์ปัจจุบันมีทั้งยีนของนีแอนเดอร์ทัล และเดนิโซวา เป็นไปได้ว่ามนุษย์ทั้ง 2 กลุ่มมีการจับคู่กันและให้กำเนิดลูกผสมขึ้นมา จากนั้นลูกผสมก็จับคู่กับโฮโมเซเปียนส์ต่อ และที่มนุษย์โฮโมเซเปียนส์ยุคใหม่ยังคงมียีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเดนิโซวาอยู่ไม่หายไปไหน อาจเกิดจากการที่ยีนของมนุษย์โบราณอยู่ใกล้กับยีนที่สำคัญกับการอยู่รอดของมนุษย์ จึงได้รับการถ่ายทอดต่อไปให้ลูกหลานสืบมาจนปัจจุบัน ซึ่งสิ่งนี้ได้ส่งผลในด้านสรีรวิทยาโดยเฉพาะเรื่องการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้ออย่างไม่น่าเชื่อ

ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยีนของมนุษย์โบราณที่ส่งผลต่อการตอบสนองต่อการติดเชื้อที่น่าสนใจว่า ชาวเอเชียใต้ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณประเทศอินเดีย ปากีสถาน ซึ่งมีอัตราส่วนยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลสูงถึงร้อยละ 40 เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการป่วยหนักมากกว่าชนชาติอื่น ในขณะที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างชาวไทยมีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 กลับมีอาการป่วยหนักน้อยกว่า ทำให้เห็นได้ว่าการศึกษาเปรียบเทียบจีโนมของมนุษย์โบราณกับมนุษย์ในปัจจุบันมีประโยชน์ทางด้านการแพทย์เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังเล่าถึงกรณีศึกษาในประเทศไทยที่พบว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียจำนวนมาก แต่ปัจจุบันลดน้อยลงเหลืออยู่บริเวณชายขอบเท่านั้น ขณะที่พาหะของโรคธาลัสซีเมียยังมีจำนวนมากกว่านับล้านคน 2 สิ่งนี้มีความเชื่อมโยงที่น่าสนใจคือ ผู้ที่เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียเมื่อติดเชื้อมาลาเรียจะมีอัตราการตายน้อยกว่าคนที่ปกติ นี่อาจเป็นผลจากการวิวัฒนาการเพื่อให้มนุษย์ในแถบนี้มีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น อย่างไรก็ตามประเด็นนี้จะต้องทำการศึกษาในระดับจีโนมกันต่อไป ซึ่ง ดร.นําชัย เผยว่าประเทศไทยเองก็มีโปรเจกต์ศึกษาจีโนมของคนไทยเพื่อเจาะลึกทำความเข้าใจทางด้านพันธุศาสตร์ของประชากรไทยเช่นกัน ซึ่งโครงการนี้จะช่วยยกระดับการรักษาของเราให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ การศึกษาจีโนมของมนุษย์โบราณจากฟอสซิลในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไปได้อีก หากมีฟอสซิลมนุษย์ในจีนัสโฮโมที่เก่าแก่มากกว่า 70,000 ปีก่อนถูกค้นพบนอกทวีปแอฟริกา ซึ่งจะล้มล้างทฤษฎีวิวัฒนาการที่กล่าวว่ามนุษย์ในทุกวันนี้มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกาและอพยพกระจายตัวออกไปยังทวีปต่าง ๆ ที่เราเชื่อถือในปัจจุบัน โดยกลุ่มที่อพยพไปทางทวีปยุโรปได้วิวัฒนาการกลายเป็นมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ส่วนกลุ่มที่อพยพไปทางทวีปเอเชียก็วิวัฒนาการเป็นมนุษย์เดนิโซวา ในการค้นพบฟอสซิลมนุษย์โบราณนั้น ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ กล่าวว่า ส่วนมากจะพบในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศสุดขั้ว หรือพื้นที่เฉพาะมาก ๆ เช่น ในถ้ำ เป็นต้น ซึ่ง อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน ได้ขยายความเกี่ยวกับการเกิดฟอสซิลว่า เงื่อนไขคือสิ่งมีชีวิตจะต้องตายบริเวณที่จะมีตะกอนละเอียดมาทับถมเพื่อชะลอการย่อยสลายของร่างกาย สำหรับประเทศไทยที่มีสภาพอากาศชื้น ซึ่งเร่งให้การย่อยสลายเกิดขึ้นเร็วและเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง รวมถึงมนุษย์โบราณในแถบเอเชียอาจจะใช้เส้นทางอพยพเป็นเส้นทางเลียบทางชายฝั่งทะเล เมื่อระดับน้ำบริเวณชายฝั่งเพิ่มสูงขึ้น ทำให้พบฟอสซิลมนุษย์โบราณได้ยากขึ้นตามไปด้วย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในวันหนึ่งเราอาจจะพบฟอสซิลใหม่ก็เป็นได้

ในตอนท้ายของการเสวนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้สรุปและกล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยของ ศาสตราจารย์ พาโบทำให้วงการบรรพพันธุศาสตร์ (Paleogenetics) ก้าวไปอีกขั้น และเปิดประตูสู่ศาสตร์พาเลโอจีโนมิกส์ (Paleogenomics) ที่ศึกษา ถอดรหัส และวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมสิ่งมีชีวิตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อันเป็นการทำสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น ซึ่ง ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ก็กล่าวว่า การทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ เป็นความท้าทาย ที่ต้องใช้ความมุ่งมั่นลงมือทำ ไม่ย่อท้อ และอดทนเป็นอย่างมาก ดังเช่นที่ ศาสตราจารย์พาโบได้แสดงให้เราเห็นแล้ว ฝากถึงน้อง ๆ ที่เรียนวิทยาศาสตร์ว่า นักวิทยาศาสตร์ถือเป็นกลุ่มคนที่มองโลกในแง่ดีและมีความหวัง เพราะเราทำการทดลองทุกวันและมักพบกับความล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ แต่เมื่อเราทำมันดีพอความสำเร็จเล็ก ๆ แต่ละส่วนเหล่านั้นจะประกอบกันเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ หรือแม้จะไม่สำเร็จในรุ่นของเรา คนรุ่นต่อไปก็จะมาสานต่อให้งานของเราสำเร็จได้ในสักวันหนึ่ง หากนักวิทยาศาสตร์และคนไทยมีความเชื่อมั่นเช่นนี้ก็จะนำพาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไม่แพ้ใครอย่างแน่นอน นอกจากนั้น อาจารย์ ดร.ณัฐพล อ่อนปาน ยังได้ชี้ให้อีกเห็นหนึ่งสิ่งที่ทำให้ ศาสตราจารย์พาโบประสบความสำเร็จ นั่นก็คือทีมงาน และการบูรณาการความเชี่ยวชาญร่วมกันของทีม รวมถึงทักษะการสื่อสาร และ soft skill ที่เป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 นั่นเอง

Mahidol Science Café “เพศกำเนิด เพศกำหนด”

Mahidol Science Café “เพศกำเนิด เพศกำหนด”

28 มิถุนายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนา Mahidol Science Café “เพศกำเนิด เพศกำหนด” แบบ Hybrid พูดคุยแบบสบาย ๆ สร้างความเข้าใจ เพิ่มการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายในกลุ่ม LGBTQIAN+ สู่ประชาคมเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลอง Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ โดยมี อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล อาจารย์ประจำสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี และอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ อาจารย์ ดร.พหล โกสิยะจินดา อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้บรรยาย ต่อด้วยกิจกรรม MUSC Happy Pride Month ซึ่งประกอบด้วยการแสดงนิทรรศการ Pride Exhibition ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแชร์ความคิดเห็นในหัวข้อ Loving and Sharing ผลักดันความเท่าเทียมในประเด็น LGBTQIAN+ ปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีโดยศิลปินน้อง ๆ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ อัฐ BE และวงละเมอ ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.นภัทร รัตน์นราทร อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และ อาจารย์ ดร.ธันฐภัทร์ บุญช่วย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ณ บริเวณอาคารเรียนรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 70 คน

ในการเสวนาผู้บรรยายทั้ง 4 ท่าน ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติการกระจายตัวของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในทางชีววิทยาว่ามีความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ และอธิบายถึงเพศกำเนิดซึ่งถูกกำหนดจากโครโมโซมเพศตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ โดยผู้ที่มีโครโมโซม XX เป็นเพศหญิง ส่วนผู้ที่มีโครโมโซม XY เป็นเพศชาย และทำความเข้าใจเพศกำหนด หรืออัตลักษณ์ทางเพศที่มีความหลากหลายซึ่งอาจจะไม่ตรงกับเพศกำเนิดก็ได้ โดยไล่เรียงการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของคนหนึ่งคนตั้งแต่วัยเด็ก เปลี่ยนผ่านสู่วัยรุ่น เข้าสู่วัยผู้ใหญ่ และวัยชรา
ซึ่ง อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่ออัตลักษณ์ทางเพศ ทั้งฮอร์โมน พันธุกรรม รวมถึงการเลี้ยงดู ซึ่งปัจจุบันในส่วนของฮอร์โมนพบว่าอิทธิพลของฮอร์โมนตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์แม่ มีผลกับการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศของลูกในอนาคต แต่เมื่อทารกคลอดออกมาแล้วการใช้ฮอร์โมนจะไม่สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้ และในส่วนของการเลี้ยงดูก็มีกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่าไม่สามารถเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้เช่นกัน

ในส่วนของการรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล กล่าวว่าเด็กจะเริ่มรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ตั้งแต่อายุประมาณ 3 – 6 ขวบ เริ่มคงที่ตั้งแต่ 6 – 7 ขวบ และเริ่มพัฒนาให้มั่นคงหลังอายุ 7 ขวบ เป็นต้นไป แต่เมื่อรับรู้ถึงอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองแล้ว การแสดงตัวตนให้สังคมรับรู้อาจจะไม่ตรงกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองเสมอไป เพราะในสังคมเราถูกกำกับความคิดเรื่องเพศด้วยกล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชายด้วยวิธีอย่างไม่เป็นทางการ เช่น ความเชื่อทางศาสนา และอย่างเป็นทางการผ่านสถาบันทางสังคม เช่น โรงเรียน ที่มีกฎระเบียบ แนวทางปฏิบัติแยกหญิง – ชาย ซึ่งส่วนมากแล้วเรามักจะถูกกำกับความคิดเรื่องเพศอย่างเบาในครอบครัว แต่กลับถูกกำกับความคิดอย่างหนักผ่านสถาบันทางสังคมอื่น ๆ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ อธิบาย ดังนั้นการแสดงออกทางเพศจึงไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศกำเนิด และอัตลักษณ์ทางเพศเสมอไป

นอกจากนั้น เพศยังมีความลื่นไหล (Gender fluidity) อีกด้วย การมีความรักจึงไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับบทบาทของการเป็นฝ่ายรุก – รับ ซึ่งเป็นการมองความสัมพันธ์โดยใช้กล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชาย หรือต้องเชื่อมโยงกับอัตลักษ์ทางเพศตลอดไป แต่สามารถลื่นไหลเปลี่ยนแปลงได้ตามรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) ที่มีทั้งมุม Eroticism และ Romanticism ซึ่งเราสามารถมีรสนิยมทางเพศทั้ง 2 ด้านแตกต่างกันได้โดยที่ไม่เป็นอันตรายกับตนเอง การหาพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสำรวจตนเองว่ามีความชอบแบบไหนในช่วงเวลานั้นโดยโยนกล่องความเป็นผู้หญิงและกล่องความเป็นผู้ชายทิ้งไป จะช่วยให้เราเข้าใจรสนิยมทางเพศ ความลื่นไหลของเพศ รวมถึงเข้าใจตนเองและผู้อื่นได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ปัจจุบันจะมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นและมีการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเพศมากกว่าในอดีต แต่ในสังคมยังคงมีการ “ตีตราประทับมลทิน” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นชุดความคิดที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และผลิตซ้ำในรูปแบบของการปฏิบัติต่อบุคคล ข้อตกลงในการปฏิบัติภายในองค์กร ไปจนถึงการออกกฎหมาย นโยบายของประเทศที่ขาดความเข้าใจและไม่รองรับความหลากหลายทางเพศ เปรียบเสมือนกำแพงที่มองไม่เห็นที่กีดกันผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจากโอกาส ความก้าวหน้า ทรัพยากร รวมถึงสิทธิต่าง ๆ เช่น การสมรส การอนุมัติให้แพทย์รักษาคู่สมรสในยามเจ็บป่วย การรับรองเพศสภาพ การมีบุตรด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกด้วย ดังนั้นจึงมีการเดินขบวนพาเหรดรณรงค์สร้างการรับรู้และความตระหนักเกี่ยวกับ LGBTQIAN+ ในเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนแห่งการครบรอบเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ (Stonewall Riots) เพื่อเรียกร้องสิทธิ และศักดิ์ศรีของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่เท่าเทียมกับคนอื่น ๆ

และถึงแม้เราจะไม่ใช่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ เราก็สามารถร่วมกันสร้างระบบสนับสนุนและพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้ที่มีความหลายหลากทางเพศได้ตั้งแต่ระดับบุคคลโดยการไม่ตัดสินจากภายนอก เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่าเขาคิดอย่างไร ผ่านความยากลำบากอะไรมาบ้าง ใช้ถ้อยคำที่เป็นกลางไม่ระบุเพศ เช่น ชมว่าดูดี แทนคำว่าสวย – หล่อ ระดับครอบครัวโดยพ่อแม่ยอมรับตัวตนของลูกและรักลูกโดยไม่มีเงื่อนไข หรือระดับองค์กร เช่น มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประกาศให้นักศึกษาสามารถแต่งกายตามเพศสภาพได้ ไม่ใช้คำนำหน้านาม และเริ่มจัดให้มีห้องน้ำสำหรับทุกเพศ ระดับนโยบายโดยให้ตัวแทนผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปมีบทบาทร่วมในการผลักดัน กำหนดนโยบาย และออกกฎหมาย เป็นต้น

ในตอนท้ายของการเสวนา อาจารย์ ดร.พหล โกสิยะจินดา กล่าวว่าอยากให้เราเคารพผู้อื่น ให้เกียรติผู้อื่นและให้เกียรติตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ด้าน อาจารย์ นพ.สิระ กอไพศาล ได้ฝากว่าหากใครต้องการคำปรึกษา หรือมีความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการข้ามเพศ มีแพทย์พร้อมให้ความช่วยเหลือที่คลินิกเพศหลากหลาย Gender Variation Clinic หรือ Gen V Clinic โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะที่ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ได้ปิดท้ายว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะเข้าใจและเคารพกัน เมื่อเราสร้างสังคมที่เคารพกันก็จะสามารถช่วยออกแบบการปฏิบัติและหาทางออกในทิศทางที่ดีได้ อยากฝากถึงทุกคนว่าเสียงของทุกคนมีความหมาย การเงียบเสียงไม่ช่วยให้อะไรเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเราจะไม่ใช่ LGBTQIAN+ แต่การส่งเสียงออกมาจะช่วยให้เราออกแบบระบบนิเวศวิทยาที่ส่งผลดีต่อกันและกันได้ ปิดท้ายด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล ซึ่งกล่าวว่า ตั้งแต่ที่เราระบุอัตลักษณ์ของตัวเองได้ ผ่านการเดินทางฟันฝ่าอุปสรรคหลายประการในฐานะผู้มีความหลากหลายทางเพศ ท้ายที่สุดแล้วการยอมรับตัวเองในสิ่งที่เป็นโดยไม่ต้องขอโทษใครเป็นความสุขที่สุดในชีวิต หวังว่ากิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความเข้าใจและยอมรับในตนเอง ขอเป็นกำลังใจให้กับชาว LGBTQIAN+ ทุกคน สำหรับกิจกรรมเฉลิมฉลอง Pride Month ในปีนี้จะไม่ใช่ปีสุดท้าย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะปัญญาของแผ่นดินจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน

Mahidol Science Café SPACE-F webinar จุดประกายนักศึกษาและคณาจารย์ก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการนวัตกรรม

Mahidol Science Café SPACE-F webinar จุดประกายนักศึกษาและคณาจารย์ก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการนวัตกรรม

27 เมษายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café SPACE-F webinar จุดประกายนักศึกษา คณาจารย์ และผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีด้านอาหาร ในการก้าวเข้าสู่เส้นทางของผู้ประกอบการเปิดโอกาสแชร์ความคิดสร้างสรรค์ ทดลองสร้างธุรกิจ ทำวิจัยร่วมเชิงพาณิชย์ รวมถึงฝึกงานกับบริษัทสตาร์ทอัพในโครงการ SPACE-F โดยมี Dr. Chris Aurand, Open Innovation Leader จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ คุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค นักพัฒนานวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาอัปเดตเกี่ยวกับโอกาสและเทรนด์ในวงการฟู้ดเทคสตาร์ทอัพ พร้อมด้วยรุ่นพี่สตาร์ทอัพ ในโครงการ SPACE-F ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม จากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm คุณตรัย สัสตวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บริษัท Tasted Better และ Mr. Fabian Reusch, กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท HydroNeo มาร่วมบอกเล่าแรงบันดาลใจและประสบการณ์สร้างนวัตกรรมด้านอาหาร ดำเนินรายการภาษาไทยและภาษาอังกฤษโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ่ายทอดสดผ่านทาง Facebook Live

โดยในช่วงต้นของการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการ SPACE-F ซึ่งเป็นโครงการบ่มเพาะและเร่งรัดการเติบโตสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมอาหาร ก่อตั้งโดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยทั้ง 3 หน่วยงาน มีบทบาทสำคัญในการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจของผู้ประกอบการ (Entrepreneurial ecosystem) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการให้คำปรึกษาและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อให้สตารท์อัพสามารถต่อยอดเทคโนโลยีเป็นของตนเอง ทำให้ SPACE-F เป็นโครงการที่สร้างโอกาสและเป็นแหล่งการเรียนรู้ของนักศึกษาในการเป็นผู้ประกอบการทางธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพของประเทศ ซึ่ง ดร.พรรณวจี พยงค์ศรี ในฐานะตัวแทนอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ตรงในการร่วมงานกับโครงการ SPACE-F และภาคเอกชนอื่น ๆ โดยประสานงานผ่านหน่วยพัฒนาธุรกิจ ได้เล่าว่าการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมว่า ช่วยขยายมุมมองในการนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้กว้างขึ้นได้เป็นอย่างดี

ในส่วน Dr. Chris Aurand จากบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงประวัติของบริษัทรวมถึงกลยุทธ์ด้านนวัตกรรมองค์กร (Corporate Innovation) ที่จะมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตให้แก่ธุรกิจภายในเครือ และด้วยความเชื่อที่ว่าความคิดสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ ๆ นั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ จึงได้จับมือกับภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนเพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาด นอกจากนี้ บริษัทได้ทำงานร่วมกับภาครัฐอย่างใกล้ชิดในการสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ ในปี 2562 ไทยยูเนี่ยนจัดตั้งกองทุน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพฟู้ดเทคทั่วโลกที่มีนัยยะสำคัญเชิงกลยุทธ์ของบริษัทในอนาคต ด้วยไทยยูเนี่ยนเห็นถึงความสำคัญของการสร้างระบบนิเวศสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคในประเทศไทยจึงเป็นที่มาของการร่วมก่อตั้งโครงการ SPACE-F โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพฟู้ดเทคสัญชาติไทยและต่างประเทศที่อยู่ระยะบ่มเพาะ (Incubator) และเร่งการเติบโต (Accelerator) ให้สามารถต่อยอดจากความคิดไปเป็นผลิตภัณฑ์ และนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดในประเทศไปจนถึงระดับภูมิภาค พร้อมกับเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างสตาร์ทอัพฟู้ดเทคในโครงการ ณ ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการมาสู่รุ่น 3 โดยมีไทยเบฟ และดีลอยท์ ประเทศไทยเข้าร่วมสนับสนุน และกำลังจะเริ่มกระบวนการคัดเลือกสตาร์ทอัพโครงการรุ่นที่ 4 สำหรับเทรนด์ในของตลาดฟู้ดเทคในปัจจุบัน จากผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนปลี่ยนไป การทำงานที่บ้าน (work from home) หรือการที่ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนประกอบอาหารฟังก์ชัน (Functional Ingredients) อาหารเพื่อสุขภาพ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันและสุขภาวะทางจิต จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอาหาร สตาร์ทอัพในโครงการรุ่น 3 เช่น Tasted Better Jamulogy และ Potent Fungi ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้นมาตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าวเช่นกัน

ด้านคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้อธิบายถึงหน้าที่ของ NIA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าเป็นหน่วยงานส่งเสริมการสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ ส่งเสริมการพัฒนาความสามารถด้านนวัตกรรมของผู้ประกอบการ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างผู้เล่นที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง โดยสร้างโอกาสพร้อมกับสนับสนุนเงินทุนในการทดลองทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงขั้นการผลิตเชิงพาณิชย์และขยายผลสู่วงกว้าง ผ่านการสนับสนุนเงินทุนให้เปล่า (grant) ต่าง ๆ ได้แก่

  • ทุนโครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation Grant)
  • ทุนโครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation Grant)
  • ทุนโครงการนวัตกรรมดี..ไม่มีดอกเบี้ย (Zero-Interest Loan)
  • รวมทั้ง ได้ร่วมมือกับกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ในการดำเนินงานโครงการยุววิสาหกิจเริ่มต้น (TED Youth Startup) อีกด้วย

และในช่วงที่สองของการเสวนา รุ่นพี่ในโครงการ SPACE-F ได้ร่วมเล่าประสบการณ์และมุมมองจากการเป็นผู้ประกอบการ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เมธา มีแต้ม ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 และ 2 อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท Advanced Greenfarm ซึ่งสนใจเกี่ยวกับพลังงานและการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน โดยนำเอาผำ หรือวูฟเฟีย พืชดอกที่โตเร็วที่สุดในโลก มาเพาะเลี้ยง ควบคุมคุณภาพ และจำหน่ายสู่ตลาด ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.flowolffia.com/ มองว่า สตาร์ทอัพจะมีความสำคัญมากขึ้นในโลกและสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นใน 100 ปีข้างหน้า เราจะต้องพึ่งเทคโนโลยีและไอเดียใหม่ ๆ เพื่อความอยู่รอด ซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่หรือองค์กรขนาดใหญ่เองก็มักที่จะไม่สามารถปรับตัวหรือพัฒนาเทคโนโลยีที่จะรองรับต่อความผันผวนและความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้ได้ทัน ดังนั้นสตาร์ทอัพที่เกิดจากสายเทคโนโลยีจึงมีความสำคัญยิ่ง และส่วนตัวเชื่อว่าอาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ล้วนมีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกของเราและมีไอเดียสร้างสรรค์ไม่แพ้ใคร ทั้งนี้เส้นทางสตาร์ทอัพอาจจะไม่ได้เหมาะกับทุกคนและจำเป็นที่จะต้องใช้ทักษะหลากหลายแขนง รวมถึงมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ ดังนั้นหากท่านใดสนใจ อยากแนะนำให้ปรึกษาผู้เคยมีประสบการณ์ทำสตาร์ทอัพมาก่อน เพื่อที่จะตัดสินใจได้ว่าเหมาะสมกับตนเอง และเหมาะกับเทคโนโลยีหรือไอเดียที่มีอยู่หรือไม่ รวมถึงควรจะเริ่มต้นสร้างทีมอย่างไร

ขณะที่ Mr.Fabian Reusch กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งบริษัท HydroNeo ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพจากประเทศเยอรมนี และเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 1 สนใจเกี่ยวกับระบบบริหารจัดการสำหรับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้พัฒนาระบบเลี้ยงกุ้งอัจฉริยะด้วยระบบ Internet of things (IoT) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กล่าวว่าการเป็นสตาร์ทอัพต้องเผชิญปัญหาและความท้าทายความสามารถของเราอยู่เสมอ ซึ่งต้องอาศัยความรอบรู้ ความเชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขามาพัฒนาเทคโนโลยีให้ดีขึ้น ซึ่งทางบริษัทยินดีแบ่งปันและแลกเปลี่ยนไอเดียรวมถึงร่วมงานกับนักศึกษา อาจารย์ และผู้ที่สนใจโดยสามารถติดต่อบริษัทได้ที่ https://hydroneo.net/

ส่วนคุณตรัย สัสตวัฒนา ผู้เข้าร่วมโครงการ SPACE-F รุ่นที่ 3 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายนวัตกรรมและการสร้างสรรค์บริษัท Tasted Better ผู้มีความเชื่อว่าก่อนที่เราจะเปลี่ยนโลกต้องทานอาหารที่เปลี่ยนชีวิตเราให้ดีขึ้นก่อน เป็นที่มาของการสร้างสรรค์อาหารประจำวันเพื่อสุขภาพที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง เช่น ขนมปัง พาสต้า อิเล็กโทรไลต์ ที่ใช้วัตถุดิบให้พลังงานแทนน้ำตาล ซึ่งสามารถเยี่ยมชมได้ที่ https://taste.co.th/ ได้แชร์มุมมองเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการ SPACE-F ว่า SPACE-F ช่วยเติมเต็มทักษะของผู้ประกอบการในหลายด้าน พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญช่วยให้คำปรึกษา เครือข่ายความร่วมมือ และสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นเหมือนสปริงบอร์ดที่ช่วยผลักดันให้เราไปได้ไกลขึ้น และฝากสำหรับคนที่มีความฝันอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงว่าคนอื่นอาจจะสงสัยว่าเราจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ขอให้เชื่อในตนเองซื่อตรงต่อตัวเอง และรู้ว่าเรากำลังอะไร มุ่งมั่นตั้งใจ ไม่มีทางลัดสำหรับการประสบความสำเร็จ จงทุ่มเทให้เต็มที่แล้วผลสำเร็จจะตามมาเอง

และในตอนท้ายของการเสวนา Dr. Chris Aurand และคุณจิตรภณ จิรกุลสมโชค ได้กล่าวปิดท้ายว่า

“การทำสตารท์อัพก็คือการออกมาจาก comfort zone และนั่นเป็นก้าวแรกซึ่งเป็นก้าวที่ยากที่สุด ลองพาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการสตาร์ทอัพ พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกัน เราอาจจะพบช่องทางในการทำธุรกิจที่พาเราเดินทางไปไกลเกินกว่าจะคิดฝันก็เป็นได้”

Mahidol Science Café อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

Mahidol Science Café อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

8 เมษายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café: อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น พูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 และการรับมือ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยทางด้านระบาดวิทยาและชีวฟิสิกส์ ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักแปล และบรรณาธิการหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักชีวฟิสิกส์ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมแปลหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ผ่านทาง Facebook live และทาง Mahidol Channel โดยมีผู้รับชมกว่า 1,000 คน

ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการระบาดใหญ่ (Pandemic) และการระบาดเฉพาะถิ่น (Endemic) หรือที่เราเรียกว่าโรคประจำถิ่นว่า การแพร่ระบาดแบบ Pandemic นั้น เราสามารถพบการระบาดได้ทั่วโลก ส่วน Endemic เราสามารถพบการระบาดได้ในบางพื้นที่ ซึ่งการระบาดของโรคประจำถิ่นมี 2 ลักษณะที่สำคัญคือ ปรากฏอยู่เรื่อย ๆ ในถิ่นนั้น ๆ และมีลักษณะบางอย่างที่ทำนายหรือคาดการณ์ได้

เมื่อกลับมามองว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ดร.นําชัย กล่าวว่า แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็มองว่ายังเร็วเกินไปที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ และแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางยังคงมีอยู่ เหมือนกับกรณีการเกิดขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งเข้ามาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาพรวมของการกระจายของวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกก็ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยที่ประชากรยังได้รับวัคซีนไม่ครบ การจบการระบาดทั่วโลกจึงยังไม่ง่ายนัก

ในกรณีของประเทศไทยที่ปัจจุบันเลือกจะรับมือกับการระบาดโดยเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น หากดูจากเกณฑ์การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. มีการติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อวัน
  2. มีอัตราการตายน้อยกว่า 0.1% ของผู้ติดเชื้อ
  3. มีการป่วยเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า 10% ของผู้ติดเชื้อ
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม
  5. ประชากรทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ
เมื่อเทียบกับข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย พบว่าเรายังมีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวัน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มยังไม่ครอบคลุม รวมถึงจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องการติดเชื้อยังน้อย การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 จึงอาจจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ได้ให้ข้อมูลในมุมของคนทำแบบจำลองโรคระบาด (disease modeler) ว่า Endemic ในความหมายของคนทำแบบจำลองคือ การระบาดที่มีแนวโน้มคงที่ สามารถคาดการณ์การระบาดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะจบลง หรือโรคจะมีความรุนแรงน้อยลง เมื่อเราคำนวณตามเงื่อนไขของการเข้าสู่ Endemic นั่นคือ R0 x S = 1 โดยที่ R0 เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส โดยในกรณีของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้น R0 มีค่าประมาณ 10 และ S คือสัดส่วนของประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้น การระบาดจะเข้าสู่ Endemic ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องมีประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้เพียง 10% ซึ่งหมายความว่าประชากรอีก 90% จะต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว และจากข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ที่ถึงแม้ทุกคนจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือแค่ประมาณ 45% นั่นคือเรายังขาดคนที่มีภูมิคุ้มกันอีก 45% ซึ่งอาจต้องเกิดขึ้นจากการติดเชื้อร่วมด้วย เพื่อให้สุทธิแล้วประชากรมีภูมิคุ้มกันครบ 90% พร้อมเสริมว่าการจบลงของโรคระบาดไม่จำเป็นต้องจบลงด้วย Endemic เสมอไป และการจบการระบาดของโรคที่ดีที่สุดคือการกำจัดโรคให้หมดไปด้วยการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วอย่างเช่น กรณีของโรคซาร์ส เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ มองว่าเมื่อเลือกจะเปลี่ยนผ่านเป็น Endemic แล้วสิ่งที่ทำได้คือ พยายามลดผลกระทบจากการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถช่วยได้ และประเทศไทยในตอนนี้มีวัคซีนมากเกินพอ จึงขอแนะนำให้ทุกคนไปรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควบคู่กับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้เสริมเกี่ยวกับประเด็นการรับมือโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีข้อมูลรายงานว่าพบการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การติดเชื้อในมิงค์ในประเทศเดนมาร์ก และการระบาดในฝูงกวางป่าในธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 ให้หมดสิ้นไปนั้นทำได้ยากยิ่ง และมีโอกาสเชื้อสายพันธุ์ที่ติดในสัตว์ป่าจะย้อนกลับมาติดเชื้อสู่คนได้ในอนาคต ดังนั้นการรับมือจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งวงการการแพทย์และสาธารณสุข สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” ขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขในการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร การสร้างสร้างสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและติดตามโรคอุบัติใหม่ และการจัดการเชื้อดื้อยา

ในตอนท้ายของการเสวนาวิทยากรและผู้ดำเนินรายการได้พูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบกระทบจากการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจจะยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก คือ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจากนี้ และราคาวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้ในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ทั่วโลกก็มีการพัฒนาวัคซีนในรูปแบบใหม่ ๆ มาแข่งขันกันมากขึ้น เช่นวัคซีนแบบพ่น ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการฉีดวัคซีน และอาจจะเป็นตัวปิดเกมการระบาดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างต่างจากปีที่แล้ว ปีนี้เรามีวัคซีน และมีแนวทางจัดการการติดเชื้อโควิดโดยพยายามรักษาระดับจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังพอรับไหว อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน และเตือนว่าการปล่อยให้ตนเองติดเชื้อนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากขณะนี้มีการศึกษาภาวะลองโควิด (Long COVID) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด มีโอกาสป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต มากกว่าคนทั่วไป และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาเจาะลึกในอนาคต และฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดว่า สิ่งที่จะช่วยให้รับมือกับการระบาดได้ดีขึ้นก็คือระบบข้อมูลที่ดี หากเรามีข้อมูลที่ถูกต้องใกล้เคียงความจริง ก็เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การเลิกรายงานการติดเชื้อไม่สามารถทำให้โควิดหายไปได้ เรามองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่

Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต

Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต

3 ธันวาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต พูดคุยเจาะลึก “Omicron” เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์น้องใหม่ ที่กำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลกในขณะนี้ เผยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้เกี่ยวกับ Omicron หรือ โอไมครอน รวมถึงแนวโน้มการวิจัยในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จิรัน ยูวะนิยม อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 80 คน

ตลอดการเสวนาวิทยากรได้ให้ข้อมูลสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้เกี่ยวกับ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ โอไมครอน โดยเจาะลึกในด้านวิวัฒนาการ ตำแหน่งการกลายพันธุ์ โครงสร้างโปรตีนให้เห็นภาพชัดเจน การเปลี่ยนแปลงเชิงชีววิทยาที่อาจจะเกิดขึ้นกับไวรัส และการเปลี่ยนแปลงทางพลศาสตร์การแพร่ระบาดของโรค มองไปจนถึงทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค COVID-19 หรือเชื้ออุบัติใหม่อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดย อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และตำแหน่งการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยแสดงแผนภาพต้นไม้วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรค COVID-19 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เป็นลูกหลานของ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์อื่นที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ข้อมูลเบื้องต้นสนับสนุนว่าบรรพบุรุษของสายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจจะกำเนิดมาตั้งแต่ต้นปี หรือ กลางปี 2563 แล้ว และวิวัฒนาการอย่างเงียบเชียบมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1.5 ปี จนในที่สุดเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ตามที่เป็นข่าว และถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของไวรัสเบื้องต้นจาก GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลจีโนมไวรัสไข้หวัดใหญ่และโคโรนาไวรัสนั้น ยังบ่งบอกด้วยว่าโอไมครอนเกิดการกลายพันธุ์กว่า 68 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของ Spike (s) protein กว่า 32 ตำแหน่ง ด้วยความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรก ๆ ของการระบาดที่มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3.5 เท่า โดยประมาณ และพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์น่ากังวลอย่าง อัลฟา เบตา และเดลต้า ที่แพร่ระบาดทั่วโลกก่อนหน้านี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม ได้แสดงภาพโครงสร้าง Spike (s) protein หรือโปรตีนหนามของไวรัสแบบ 3 มิติ จากเทคโนโลยี CryoEM ที่แสดงให้เห็นว่ามีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่คล้ายกับแต่งกายด้วยชุดแฟนซี โดยโปรตีนหนามแต่ละอันสามารถมีหมู่น้ำตาลได้กว่า 66 ตำแหน่ง ซึ่งเกือบทุกตำแหน่งมีรูปแบบของหมู่น้ำตาลที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ทำให้โปรตีนหนามแต่ละอันถูกตกแต่งด้วยชุดแฟนซีที่แตกต่างกันจึงมีโครงสร้าง 3 มิติในภาพรวมที่แตกต่างกันได้ และชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่โปรตีนหนามของไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับ (receptor protein) ของมนุษย์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่ พร้อมอธิบายเกี่ยวกับการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ของไวรัสโดยอาศัยการทำงานของโปรตีนหนาม และระบบการตอบสนองของร่างกายขั้นต้นที่จะส่งแอนติบอดี้มายับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส พร้อมแสดงตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ รวมทั้งแนวโน้มของการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เกิดจากการติดเชื้อและการกระตุ้นด้วยวัคซีน ทำให้ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกต่างศึกษาวิจัยหาข้อมูลประสิทธิภาพของยา และวัคซีนต่อเชื้อโอไมครอน ผลกระทบของเชื้อต่อกลไกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ รวมถึงความรุนแรงของเชื้อตัวใหม่นี้อย่างเร่งด่วน

และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว หรือการติดเชื้อทะลุภูมิคุ้มกัน (breakthrough case) ว่า เชื้อก่อโรค COVID-19 ทุกสายพันธุ์มีการติดเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีนได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเกิดในสายพันธุ์โอไมครอนมากกว่าสายพันธุ์น่ากังวลอื่น ๆ หรือไม่ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเองโดยธรรมชาติมีข้อมูลจากประเทศแอฟริกาใต้แล้วว่าอัตราการติดเชื้อโอไมครอนซ้ำนั้นสูงกว่าของสายพันธุ์เบตา และเดลตา โดยมีค่าเป็น 3 เท่า โดยประมาณ ด้านประสิทธิภาพของวัคซีน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าน่าจะลดลง แต่น่าจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่บ้าง โดยเฉพาะการป้องการติดเชื้อแบบป่วยหนัก สำหรับความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะมาแทนที่สายพันธุ์เดลตา และทำให้การระบาดของโควิด-19 สงบลงในที่สุดนั้น ตอนนี้ยังคงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อยังคงมีน้อย อาจมีความรุนแรงในแต่ละเชื้อชาติหรือกลุ่มอายุไม่เหมือนกัน จึงฝากทิ้งท้ายให้ทุกคนตระหนักแต่ไม่ตระหนก ขอให้ร่วมมือร่วมใจใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลทางการที่เชื่อถือได้

สุดท้ายมองว่าทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับเชื้อก่อโรค COVID-19 กลายพันธุ์ในระยะยาวควรมีการพัฒนาวัคซีนและการพัฒนายารักษาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ และการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตจำเป็นต้องมีการสำรวจเชิงรุกที่ดี เพื่อให้เราสามารถศึกษาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเชื้อโรคและจัดการได้อย่างทันท่วงทีต่อไป