Mahidol Science Café อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

Mahidol Science Café อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

8 เมษายน 2565 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café: อัพเดตข้อมูลการระบาด ในวันที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น พูดคุยเกี่ยวกับแนวโน้มการระบาดของโควิด-19 และการรับมือ ในมุมมองของนักวิทยาศาสตร์กับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยทางด้านระบาดวิทยาและชีวฟิสิกส์ ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สวทช. นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักแปล และบรรณาธิการหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักชีวฟิสิกส์ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมแปลหนังสือ ‘เมื่อโลกติดเชื้อ ฉบับกระชับ’ ผ่านทาง Facebook live และทาง Mahidol Channel โดยมีผู้รับชมกว่า 1,000 คน

ดร.นําชัย ชีววิวรรธน์ ได้ปูความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการระบาดใหญ่ (Pandemic) และการระบาดเฉพาะถิ่น (Endemic) หรือที่เราเรียกว่าโรคประจำถิ่นว่า การแพร่ระบาดแบบ Pandemic นั้น เราสามารถพบการระบาดได้ทั่วโลก ส่วน Endemic เราสามารถพบการระบาดได้ในบางพื้นที่ ซึ่งการระบาดของโรคประจำถิ่นมี 2 ลักษณะที่สำคัญคือ ปรากฏอยู่เรื่อย ๆ ในถิ่นนั้น ๆ และมีลักษณะบางอย่างที่ทำนายหรือคาดการณ์ได้

เมื่อกลับมามองว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ดร.นําชัย กล่าวว่า แม้กระทั่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เองก็มองว่ายังเร็วเกินไปที่โควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น โอกาสเกิดสายพันธุ์ใหม่ และแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางยังคงมีอยู่ เหมือนกับกรณีการเกิดขึ้นของสายพันธุ์โอไมครอนซึ่งเข้ามาแทนที่การระบาดของสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดอยู่ก่อนหน้าได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาพรวมของการกระจายของวัคซีนต้านโควิด-19 ทั่วโลกก็ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้น้อยที่ประชากรยังได้รับวัคซีนไม่ครบ การจบการระบาดทั่วโลกจึงยังไม่ง่ายนัก

ในกรณีของประเทศไทยที่ปัจจุบันเลือกจะรับมือกับการระบาดโดยเปลี่ยนผ่านโควิด-19 ให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น หากดูจากเกณฑ์การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งระบุไว้ 5 ข้อ ได้แก่

  1. มีการติดเชื้อใหม่น้อยกว่า 10,000 คนต่อวัน
  2. มีอัตราการตายน้อยกว่า 0.1% ของผู้ติดเชื้อ
  3. มีการป่วยเข้าโรงพยาบาลน้อยกว่า 10% ของผู้ติดเชื้อ
  4. ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็ม
  5. ประชากรทั่วไปมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ
เมื่อเทียบกับข้อมูลรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของประเทศไทย พบว่าเรายังมีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่อยู่ที่ประมาณ 20,000 คนต่อวัน ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 เข็มยังไม่ครอบคลุม รวมถึงจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องการติดเชื้อยังน้อย การเปลี่ยนผ่านโควิด-19 จึงอาจจะเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ โหมดชัง ได้ให้ข้อมูลในมุมของคนทำแบบจำลองโรคระบาด (disease modeler) ว่า Endemic ในความหมายของคนทำแบบจำลองคือ การระบาดที่มีแนวโน้มคงที่ สามารถคาดการณ์การระบาดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดจะจบลง หรือโรคจะมีความรุนแรงน้อยลง เมื่อเราคำนวณตามเงื่อนไขของการเข้าสู่ Endemic นั่นคือ R0 x S = 1 โดยที่ R0 เป็นค่าที่แสดงถึงความสามารถในการแพร่เชื้อของไวรัส โดยในกรณีของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนนั้น R0 มีค่าประมาณ 10 และ S คือสัดส่วนของประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้ ดังนั้น การระบาดจะเข้าสู่ Endemic ได้ก็ต่อเมื่อเราต้องมีประชากรที่ยังสามารถติดเชื้อได้เพียง 10% ซึ่งหมายความว่าประชากรอีก 90% จะต้องมีภูมิคุ้มกันต่อโรคแล้ว และจากข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน ที่ถึงแม้ทุกคนจะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน ประชากรจะมีภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อลดลงเหลือแค่ประมาณ 45% นั่นคือเรายังขาดคนที่มีภูมิคุ้มกันอีก 45% ซึ่งอาจต้องเกิดขึ้นจากการติดเชื้อร่วมด้วย เพื่อให้สุทธิแล้วประชากรมีภูมิคุ้มกันครบ 90% พร้อมเสริมว่าการจบลงของโรคระบาดไม่จำเป็นต้องจบลงด้วย Endemic เสมอไป และการจบการระบาดของโรคที่ดีที่สุดคือการกำจัดโรคให้หมดไปด้วยการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วอย่างเช่น กรณีของโรคซาร์ส เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ชรินทร์ มองว่าเมื่อเลือกจะเปลี่ยนผ่านเป็น Endemic แล้วสิ่งที่ทำได้คือ พยายามลดผลกระทบจากการติดเชื้อให้ได้มากที่สุด ซึ่งการฉีดวัคซีนสามารถช่วยได้ และประเทศไทยในตอนนี้มีวัคซีนมากเกินพอ จึงขอแนะนำให้ทุกคนไปรับวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควบคู่กับการใช้มาตรการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ

ขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อุ่นใจ ได้เสริมเกี่ยวกับประเด็นการรับมือโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีข้อมูลรายงานว่าพบการติดเชื้อในสัตว์หลายชนิด ซึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การติดเชื้อในมิงค์ในประเทศเดนมาร์ก และการระบาดในฝูงกวางป่าในธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้การกำจัดการระบาดของโรคโควิด-19 ให้หมดสิ้นไปนั้นทำได้ยากยิ่ง และมีโอกาสเชื้อสายพันธุ์ที่ติดในสัตว์ป่าจะย้อนกลับมาติดเชื้อสู่คนได้ในอนาคต ดังนั้นการรับมือจะต้องบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งวงการการแพทย์และสาธารณสุข สัตวแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อม ตามหลักการ “สุขภาพหนึ่งเดียว (One Health)” ขององค์การอนามัยโลก เพื่อยกระดับระบบสาธารณสุขในการควบคุมความปลอดภัยของอาหาร การสร้างสร้างสภาวะแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและติดตามโรคอุบัติใหม่ และการจัดการเชื้อดื้อยา

ในตอนท้ายของการเสวนาวิทยากรและผู้ดำเนินรายการได้พูดคุยเกี่ยวกับผลกระทบกระทบจากการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ที่อาจจะยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก คือ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนจำนวนผู้สูงอายุซึ่งจะเห็นได้ชัดหลังจากนี้ และราคาวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติใช้ในปัจจุบันอาจจะเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ ทั่วโลกก็มีการพัฒนาวัคซีนในรูปแบบใหม่ ๆ มาแข่งขันกันมากขึ้น เช่นวัคซีนแบบพ่น ซึ่งจะช่วยลดความยุ่งยากในการฉีดวัคซีน และอาจจะเป็นตัวปิดเกมการระบาดได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วงเทศกาลสงกรานต์ว่า สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างต่างจากปีที่แล้ว ปีนี้เรามีวัคซีน และมีแนวทางจัดการการติดเชื้อโควิดโดยพยายามรักษาระดับจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับที่ระบบสาธารณสุขยังพอรับไหว อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น จึงขอเชิญชวนประชาชนให้ไปฉีดวัคซีน และเตือนว่าการปล่อยให้ตนเองติดเชื้อนั้นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากขณะนี้มีการศึกษาภาวะลองโควิด (Long COVID) พบว่าผู้ที่ติดเชื้อโควิด มีโอกาสป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต มากกว่าคนทั่วไป และอาจมีอาการอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าศึกษาเจาะลึกในอนาคต และฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาดว่า สิ่งที่จะช่วยให้รับมือกับการระบาดได้ดีขึ้นก็คือระบบข้อมูลที่ดี หากเรามีข้อมูลที่ถูกต้องใกล้เคียงความจริง ก็เหมือนรู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง การเลิกรายงานการติดเชื้อไม่สามารถทำให้โควิดหายไปได้ เรามองไม่เห็นไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่

Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต

Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต

3 ธันวาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต พูดคุยเจาะลึก “Omicron” เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์น้องใหม่ ที่กำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลกในขณะนี้ เผยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้เกี่ยวกับ Omicron หรือ โอไมครอน รวมถึงแนวโน้มการวิจัยในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จิรัน ยูวะนิยม อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 80 คน

ตลอดการเสวนาวิทยากรได้ให้ข้อมูลสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้เกี่ยวกับ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ โอไมครอน โดยเจาะลึกในด้านวิวัฒนาการ ตำแหน่งการกลายพันธุ์ โครงสร้างโปรตีนให้เห็นภาพชัดเจน การเปลี่ยนแปลงเชิงชีววิทยาที่อาจจะเกิดขึ้นกับไวรัส และการเปลี่ยนแปลงทางพลศาสตร์การแพร่ระบาดของโรค มองไปจนถึงทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค COVID-19 หรือเชื้ออุบัติใหม่อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดย อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และตำแหน่งการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยแสดงแผนภาพต้นไม้วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรค COVID-19 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เป็นลูกหลานของ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์อื่นที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ข้อมูลเบื้องต้นสนับสนุนว่าบรรพบุรุษของสายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจจะกำเนิดมาตั้งแต่ต้นปี หรือ กลางปี 2563 แล้ว และวิวัฒนาการอย่างเงียบเชียบมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1.5 ปี จนในที่สุดเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ตามที่เป็นข่าว และถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของไวรัสเบื้องต้นจาก GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลจีโนมไวรัสไข้หวัดใหญ่และโคโรนาไวรัสนั้น ยังบ่งบอกด้วยว่าโอไมครอนเกิดการกลายพันธุ์กว่า 68 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของ Spike (s) protein กว่า 32 ตำแหน่ง ด้วยความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรก ๆ ของการระบาดที่มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3.5 เท่า โดยประมาณ และพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์น่ากังวลอย่าง อัลฟา เบตา และเดลต้า ที่แพร่ระบาดทั่วโลกก่อนหน้านี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม ได้แสดงภาพโครงสร้าง Spike (s) protein หรือโปรตีนหนามของไวรัสแบบ 3 มิติ จากเทคโนโลยี CryoEM ที่แสดงให้เห็นว่ามีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่คล้ายกับแต่งกายด้วยชุดแฟนซี โดยโปรตีนหนามแต่ละอันสามารถมีหมู่น้ำตาลได้กว่า 66 ตำแหน่ง ซึ่งเกือบทุกตำแหน่งมีรูปแบบของหมู่น้ำตาลที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ทำให้โปรตีนหนามแต่ละอันถูกตกแต่งด้วยชุดแฟนซีที่แตกต่างกันจึงมีโครงสร้าง 3 มิติในภาพรวมที่แตกต่างกันได้ และชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่โปรตีนหนามของไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับ (receptor protein) ของมนุษย์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่ พร้อมอธิบายเกี่ยวกับการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ของไวรัสโดยอาศัยการทำงานของโปรตีนหนาม และระบบการตอบสนองของร่างกายขั้นต้นที่จะส่งแอนติบอดี้มายับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส พร้อมแสดงตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ รวมทั้งแนวโน้มของการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เกิดจากการติดเชื้อและการกระตุ้นด้วยวัคซีน ทำให้ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกต่างศึกษาวิจัยหาข้อมูลประสิทธิภาพของยา และวัคซีนต่อเชื้อโอไมครอน ผลกระทบของเชื้อต่อกลไกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ รวมถึงความรุนแรงของเชื้อตัวใหม่นี้อย่างเร่งด่วน

และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว หรือการติดเชื้อทะลุภูมิคุ้มกัน (breakthrough case) ว่า เชื้อก่อโรค COVID-19 ทุกสายพันธุ์มีการติดเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีนได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเกิดในสายพันธุ์โอไมครอนมากกว่าสายพันธุ์น่ากังวลอื่น ๆ หรือไม่ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเองโดยธรรมชาติมีข้อมูลจากประเทศแอฟริกาใต้แล้วว่าอัตราการติดเชื้อโอไมครอนซ้ำนั้นสูงกว่าของสายพันธุ์เบตา และเดลตา โดยมีค่าเป็น 3 เท่า โดยประมาณ ด้านประสิทธิภาพของวัคซีน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าน่าจะลดลง แต่น่าจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่บ้าง โดยเฉพาะการป้องการติดเชื้อแบบป่วยหนัก สำหรับความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะมาแทนที่สายพันธุ์เดลตา และทำให้การระบาดของโควิด-19 สงบลงในที่สุดนั้น ตอนนี้ยังคงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อยังคงมีน้อย อาจมีความรุนแรงในแต่ละเชื้อชาติหรือกลุ่มอายุไม่เหมือนกัน จึงฝากทิ้งท้ายให้ทุกคนตระหนักแต่ไม่ตระหนก ขอให้ร่วมมือร่วมใจใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลทางการที่เชื่อถือได้

สุดท้ายมองว่าทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับเชื้อก่อโรค COVID-19 กลายพันธุ์ในระยะยาวควรมีการพัฒนาวัคซีนและการพัฒนายารักษาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ และการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตจำเป็นต้องมีการสำรวจเชิงรุกที่ดี เพื่อให้เราสามารถศึกษาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเชื้อโรคและจัดการได้อย่างทันท่วงทีต่อไป