Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต

3 ธันวาคม 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Café update COVID-19 new variant “Omicron”, สิ่งที่รู้ ไม่รู้ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต พูดคุยเจาะลึก “Omicron” เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์น้องใหม่ ที่กำลังเป็นที่จับตามองไปทั่วโลกในขณะนี้ เผยสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้เกี่ยวกับ Omicron หรือ โอไมครอน รวมถึงแนวโน้มการวิจัยในอนาคต โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.จิรัน ยูวะนิยม อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย นายโชติวัฒน์ ศรีเพชรดี นักศึกษาปริญญาเอกภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 80 คน

ตลอดการเสวนาวิทยากรได้ให้ข้อมูลสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้เกี่ยวกับ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ โอไมครอน โดยเจาะลึกในด้านวิวัฒนาการ ตำแหน่งการกลายพันธุ์ โครงสร้างโปรตีนให้เห็นภาพชัดเจน การเปลี่ยนแปลงเชิงชีววิทยาที่อาจจะเกิดขึ้นกับไวรัส และการเปลี่ยนแปลงทางพลศาสตร์การแพร่ระบาดของโรค มองไปจนถึงทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับการกลายพันธุ์ของเชื้อก่อโรค COVID-19 หรือเชื้ออุบัติใหม่อื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
โดย อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิวัฒนาการ และตำแหน่งการกลายพันธุ์ของไวรัส โดยแสดงแผนภาพต้นไม้วิวัฒนาการของเชื้อก่อโรค COVID-19 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์โอไมครอนไม่ได้เป็นลูกหลานของ เชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์อื่นที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวลซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป ข้อมูลเบื้องต้นสนับสนุนว่าบรรพบุรุษของสายพันธุ์โอไมครอนนั้นอาจจะกำเนิดมาตั้งแต่ต้นปี หรือ กลางปี 2563 แล้ว และวิวัฒนาการอย่างเงียบเชียบมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1.5 ปี จนในที่สุดเกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศแอฟริกาใต้ตามที่เป็นข่าว และถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นอกจากนั้น ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจีโนมของไวรัสเบื้องต้นจาก GISAID ซึ่งเป็นฐานข้อมูลจีโนมไวรัสไข้หวัดใหญ่และโคโรนาไวรัสนั้น ยังบ่งบอกด้วยว่าโอไมครอนเกิดการกลายพันธุ์กว่า 68 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อู่ฮั่นดั้งเดิม ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ในตำแหน่งของ Spike (s) protein กว่า 32 ตำแหน่ง ด้วยความเร็วในการเปลี่ยนแปลงในช่วงแรก ๆ ของการระบาดที่มากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 3.5 เท่า โดยประมาณ และพบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจำนวนมากกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับสายพันธุ์น่ากังวลอย่าง อัลฟา เบตา และเดลต้า ที่แพร่ระบาดทั่วโลกก่อนหน้านี้
ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.จิรันดร ยูวะนิยม ได้แสดงภาพโครงสร้าง Spike (s) protein หรือโปรตีนหนามของไวรัสแบบ 3 มิติ จากเทคโนโลยี CryoEM ที่แสดงให้เห็นว่ามีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่คล้ายกับแต่งกายด้วยชุดแฟนซี โดยโปรตีนหนามแต่ละอันสามารถมีหมู่น้ำตาลได้กว่า 66 ตำแหน่ง ซึ่งเกือบทุกตำแหน่งมีรูปแบบของหมู่น้ำตาลที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ ทำให้โปรตีนหนามแต่ละอันถูกตกแต่งด้วยชุดแฟนซีที่แตกต่างกันจึงมีโครงสร้าง 3 มิติในภาพรวมที่แตกต่างกันได้ และชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่โปรตีนหนามของไวรัสจับกับโปรตีนตัวรับ (receptor protein) ของมนุษย์ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไม่มีหมู่น้ำตาลปกคลุมอยู่ พร้อมอธิบายเกี่ยวกับการเข้าสู่เซลล์มนุษย์ของไวรัสโดยอาศัยการทำงานของโปรตีนหนาม และระบบการตอบสนองของร่างกายขั้นต้นที่จะส่งแอนติบอดี้มายับยั้งการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส พร้อมแสดงตำแหน่งการกลายพันธุ์บนโปรตีนหนามของเชื้อก่อโรค COVID-19 สายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ รวมทั้งแนวโน้มของการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ที่เกิดจากการติดเชื้อและการกระตุ้นด้วยวัคซีน ทำให้ขณะนี้นักวิจัยทั่วโลกต่างศึกษาวิจัยหาข้อมูลประสิทธิภาพของยา และวัคซีนต่อเชื้อโอไมครอน ผลกระทบของเชื้อต่อกลไกภูมิคุ้มกันของมนุษย์ รวมถึงความรุนแรงของเชื้อตัวใหม่นี้อย่างเร่งด่วน

และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในผู้ที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว หรือการติดเชื้อทะลุภูมิคุ้มกัน (breakthrough case) ว่า เชื้อก่อโรค COVID-19 ทุกสายพันธุ์มีการติดเชื้อในคนที่ฉีดวัคซีนได้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลรายงานว่าเกิดในสายพันธุ์โอไมครอนมากกว่าสายพันธุ์น่ากังวลอื่น ๆ หรือไม่ ส่วนผู้ที่ติดเชื้อเองโดยธรรมชาติมีข้อมูลจากประเทศแอฟริกาใต้แล้วว่าอัตราการติดเชื้อโอไมครอนซ้ำนั้นสูงกว่าของสายพันธุ์เบตา และเดลตา โดยมีค่าเป็น 3 เท่า โดยประมาณ ด้านประสิทธิภาพของวัคซีน นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกคาดการณ์ว่าน่าจะลดลง แต่น่าจะยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันได้อยู่บ้าง โดยเฉพาะการป้องการติดเชื้อแบบป่วยหนัก สำหรับความเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะมาแทนที่สายพันธุ์เดลตา และทำให้การระบาดของโควิด-19 สงบลงในที่สุดนั้น ตอนนี้ยังคงเป็นเพียงข้อสันนิษฐานเท่านั้น รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงของเชื้อยังคงมีน้อย อาจมีความรุนแรงในแต่ละเชื้อชาติหรือกลุ่มอายุไม่เหมือนกัน จึงฝากทิ้งท้ายให้ทุกคนตระหนักแต่ไม่ตระหนก ขอให้ร่วมมือร่วมใจใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง และรับข่าวสารจากแหล่งข้อมูลทางการที่เชื่อถือได้

สุดท้ายมองว่าทิศทางการวิจัยเพื่อรับมือกับเชื้อก่อโรค COVID-19 กลายพันธุ์ในระยะยาวควรมีการพัฒนาวัคซีนและการพัฒนายารักษาใหม่ ๆ ที่มีผลข้างเคียงน้อยด้วยเทคโนโลยีใหม่ก็เป็นส่วนที่สำคัญ และการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคตจำเป็นต้องมีการสำรวจเชิงรุกที่ดี เพื่อให้เราสามารถศึกษาทำความเข้าใจถึงธรรมชาติของเชื้อโรคและจัดการได้อย่างทันท่วงทีต่อไป

Recommended Posts