RTEC Research


การพัฒนาแผ่นยางปูพื้นคอมโพสิตจากน้ำยางธรรมชาติและเศษยางรถยนต์บด

rubber

   สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งปริมาณการใช้งานยางล้อในประเทศสูงถึงปีละประมาณ 139,194 ตันหรือ 17 ล้านเส้น ในขณะที่มีปริมาณการทำลายเพียงร้อยละ 9 ในแต่ละปี ซึ่งขยะยางรถยนต์หากกำจัดไม่ถูกวิธีจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและสุขภาพ วิธีการนำยางล้อรถยนต์เก่าที่ผ่านการใช้งานเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่มีหลายวิธี แต่การนำยางล้อรถยนต์เก่ามาบดเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เพราะสามารถทำได้ง่ายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการนำยางบดกลับมาใช้ใหม่จะช่วยลดต้นทุนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้ยางล้อรถยนต์เก่าได้

   โครงการการพัฒนาแผ่นยางปูพื้นคอมโพสิตจากน้ำยางธรรมชาติและเศษยางรถยนต์บด เป็นงานวิจัยของRTEC ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก บริษัท ยูเนี่ยนพัฒนกิจ จำกัด ภายใต้โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

   วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ การผลิตแผ่นยางปูพื้นโดยใช้ยางบดขนาดต่างๆ และใช้น้ำยางข้นเป็นสารเชื่อมประสาน

rubber floor

     สมบัติของผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นที่ผลิตขึ้นเตรียมจากเศษยางรถยนต์บดขนาด 40 เมชของบริษัท ยูเนี่ยนพัฒนกิจ จำกัด กับน้ำยางคอมพาวนด์ มีสมบัติผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 2377-2559 ได้แก่ ความแข็ง (Hardness) ความต้านทานแรงดึง (Tensile strength) และการยืดตัวที่จุดขาด (Elongation at break) ผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นจากโครงการนี้มีวิธีการเตรียมที่ง่าย โดยการนำน้ำยางข้นผสมสารเคมีและยางรถยนต์เก่าบดแล้วเทลงบนแม่พิมพ์ หรือเทบริเวณพื้นที่ต้องการ เมื่อปล่อยทิ้งไว้ให้น้ำระเหยแห้งหมดแล้วจะเกิดการรวมตัวของเม็ดยางบดกับยางธรรมชาติแห้ง หลังจากนั้นจึงให้ความร้อนเพื่อให้แผ่นยางแห้งอย่างสมบูรณ์

    ผลิตภัณฑ์แผ่นยางปูพื้นจากโครงการนี้ เป็นทางเลือกใหม่สำหรับการผลิตแผ่นยางปูพื้นยางที่ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องมือผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อาจส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับทำพื้นยางคอกปศุสัตว์ได้ สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าของยางรถยนต์บดและน้ำยางธรรมชาติ ลดของเสียจากยางล้อรถยนต์เก่า เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางปูพื้น

คณะผู้วิจัย

Dr. Sombat-RTEC

ดร. สมบัติ ธนะวันต์ และ นางสาววริษฐา มิตรสายชล
อีเมล: sombat.tha@mahidol.ac.th