นวัตกรรมอุปกรณ์ดาม (Splint) เทอร์โมพลาสติก เป็นผลงานการสร้างสรรค์ร่วมกันแบบ multidisciplinary หรือบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่าง 2 ส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวมนุษย์ คณะกายภาพบำบัด และ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC)
คณะวิทยาศาสตร์
นวัตกรรมอุปกรณ์ดาม (Splint) เทอร์โมพลาสติกนี้เตรียมขึ้นจากพอลิเมอร์คอมพาวนด์เทอร์โมพลาสติกที่คิดค้นขึ้น โดยทางศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง (RTEC) ได้รับโจทย์วิจัยจาก คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ดาม (Splint) ที่สามารถใช้ได้กับร่างกายของผู้ป่วยที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในส่วนต่างๆ อาทิ มือ เท้า และหลัง เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ดามนี้จะสามารถอ่อนตัว และปรับรูปได้ตามความต้องการที่อุณหภูมิ 60 - 70 องศาเซลเซียส
งานวิจัยนี้อยู่ระหว่างการทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อทดสอบความเข้ากันได้ทางชีวภาพของวัสดุ (Biocompatibility) ได้แก่ การทดสอบเพื่อประเมินการแพ้ทางผิวหนัง (Sensitization Test) การทดสอบการระคายเคืองทางผิวหนัง (Irritation Test) ที่ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และการทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ (Cytotoxicity) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และขอยื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา หากเมื่อโครงการฯ ได้ดำเนินการถึงปลายน้ำ หรือเข้าสู่เชิงพาณิชย์แล้ว จะสามารถทำให้ราคาของอุปกรณ์ดาม (Splint) จากเทอร์โมพลาสติกลดลงจากราคาต่อแผ่นประมาณ 7,500 บาท เหลือเพียงประมาณ 2,000 บาท หรือลดลงได้ถึงประมาณร้อยละ 73 และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป
นอกจากนี้ทาง RTEC กำลังดำเนินการวิจัยในเรื่องการนำยางธรรมชาติมาใช้ผลิตวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมายางธรรมชาติมีข้อจำกัดในเรื่องการแพ้โปรตีนในน้ำยางธรรมชาติของผู้ใช้งาน งานวิจัยที่ RTEC กำลังดำเนินการนี้จะทำให้ข้อจำกัดของการใช้งานยางธรรมชาติลดลง และส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นในการใช้งานวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ผลิตจากยางธรรมชาติได้