คณะวิทย์ ม.มหิดล จัดปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29 เรื่อง ‘อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ’ ในโอกาสครบรอบ 65 ปี การสถาปนาคณะ

20 ตุลาคม 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29 เรื่อง ‘อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ’ ฉลองวันสถาปนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ครบรอบปีที่ 65 โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ กล่าวปาฐกถา ณ ห้อง L-01 อาคารบรรยายรวม (ตึกกลม) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล พญาไท
โดยพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้ได้รับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2565 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ประเสริฐ โศภน อดีตคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ผู้ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชากายวิภาคศาสตร์และชีววิทยาโครงสร้าง ประจำปีการศึกษา 2565 และผู้บริหารคณะและสถาบันต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงผู้บริหารสถาบันวิจัย อาจารย์เกษียณ และทายาทศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข เข้าร่วมงาน
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ประธานในพิธี กล่าวต้อนรับและขอบคุณทุกท่านที่ทำให้งานวันนี้สวยงาม พร้อมกล่าวนำเข้าสู่การปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ในครั้งนี้ว่า วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราได้กลับมายังบ้าน ตึกกลม ห้อง L-01 ที่ปรับปรุงใหม่และเปิดใช้งานเพื่อเฉลิมฉลอง 65 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลของเรา ถ้าหากเราอยู่หน้าตึกกลม จะเห็นต้นศรีตรังออกดอกสีม่วงสวยงาม การที่จะมีต้นไม้ ดอกไม้ ซึ่งเปรียบเป็นนวัตกรรมและผลงานตีพิมพ์มากมาย จะต้องมีคนปลูกต้นไม้ต้นหนึ่งขึ้นมา และต้นไม้ต้นนั้นจะต้องมีรากที่แข็งแรง ในโอกาสที่คณะวิทยาศาสตร์กำลังจะเข้าสู่ปีที่ 66 องค์ปาฐกในวันนี้ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์สตางค์ในรุ่นแรก จะพาเราไประลึกถึงวิสัยทัศน์อันกว้างไกลที่ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ที่เติบโตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลในการสร้างคน สร้างองค์ความรู้ให้กับสังคม ซึ่งจะต้องมีวิทยาศาสตร์เป็นรากที่แข็งแรง
ในครั้งนี้ปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29 เรื่อง “อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ” ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ นายกสมาคมศิษย์เก่าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ศิษย์เก่าเตรียมแพทย์เชียงใหม่ และลูกศิษย์อาจารย์สตางค์ รุ่นแรก มาเล่าถึงรากเหง้าของคณะวิทยาศาสตร์ สถานศึกษาที่สร้างคน สร้างองค์ความรู้ สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมมาตลอด 65 ปี
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ กล่าวถึงอาจารย์สตางค์ว่า เป็นผู้ที่มีความเคารพและกตัญญูกตเวทีต่อครูอาจารย์ของท่านทุกคน สำนึกในคุณแผ่นดิน พระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือ สมเด็จพระราชบิดา และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ท่านได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดตั้งโรงเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หรือ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน และได้ชักชวนนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีให้มาเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ โดยสนับสนุนให้นักศึกษาสอบชิงทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอกในต่างประเทศเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
บรรดาลูกศิษย์เมื่อสำเร็จการศึกษาได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยกลับมาเป็นอาจารย์และผู้บริหารของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีส่วนในการก่อตั้งหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญหลายแห่ง อาทิ กระทรวงวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยกับองค์กรระดับนานาชาติ จัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เชื่อมต่อเป็นศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาค วางรากฐานการศึกษาวิทยาศาสตร์และการแพทย์ในประเทศไทย สานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา และความตั้งใจของอาจารย์สตางค์ ในการพัฒนาการศึกษา ระบบการแพทย์ และสาธารณสุขของไทย
ตลอดช่วงเวลาที่อาจารย์มีชีวิตอยู่สามารถชักชวนนักศึกษามาเรียนเตรียมแพทย์ถึง 81 คน รวมทั้งร่วมเป็นคณะกรรมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับนานาชาติ ขอการสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ จากมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
นอกจากการสร้างคน การสร้างสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกแล้ว ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นพ.พรชัย มาตังคสมบัติ กล่าวว่า วงการวิทยาศาสตร์ยังต้องมี Ecosystem หรือระบบนิเวศ รองรับและเชื่อมต่อกันไป ให้งานวิจัยพื้นฐานต่อเนื่องไปสู่นวัตกรรม ซึ่งเปรียบเหมือนผลไม้ หรือดอกไม้ที่เราพึงปรารถนา ซึ่งต้องมีลำต้นเป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้มแข็งจึงจะออกดอกผลได้ ผู้นำวิทยาศาสตร์ในยุคต่อไปจะต้องชี้นำให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ผู้กำหนดนโยบาย และเชื่อมต่อ Ecosystem จากหิ้งสู่ห้างให้สมบูรณ์ ในอดีตภาคเอกชนจำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการสร้างเทคโนโลยีของตนเอง ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคแห่งการพัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม เห็นได้จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องอดทน เชื่อมต่อ และสื่อสารกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกัน
จากผลงานที่เหล่าลูกศิษย์ได้สานต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชบิดา และความมุ่งมั่นตั้งใจทำเพื่อประเทศชาติของท่านอาจารย์สตางค์ คือความภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้คณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดลเข้มแข็งขึ้น ภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทำให้ส่วนรวมก้าวไปข้างหน้า และสิ่งที่ภูมิใจที่สุดคือ อนุชนรุ่นหลังเลือกที่จะเจริญรอยตามเป็นนักวิจัย และช่วยกันพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์และประเทศชาติต่อไป

ผู้ที่สนใจชมการปาฐกถาศาสตราจารย์ ดร.สตางค์ มงคลสุข ครั้งที่ 29 เรื่อง ‘อาจารย์สตางค์กับการพัฒนาประเทศ’ ฉบับเต็มสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Lh_y6c7WpLY

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังคงสานต่อปณิธานของอาจารย์สตางค์ และสมเด็จพระราชบิดา และตั้งมั่นในวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำด้านการศึกษา วิจัย และนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์อย่างบูรณาการ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ โดยสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ คู่คุณธรรม และผลิตผลงานวิจัยคุณภาพสากลก่อประโยชน์ต่อสังคม ติดตามข่าวกิจกรรมที่น่าสนใจของคณะวิทยาศาสตร์ได้ทาง https://science.mahidol.ac.th/news/ หรืออ่านงานวิจัยและการค้นพบใหม่ ๆ ได้ที่ https://science.mahidol.ac.th/simple-science/index.php

เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายนภาศักดิ์ ผลพานิช,
นายดิเรก อุ่นแก้ว,
นายมานะ ไผ่มณี
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 20 ตุลาคม 2566