28 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จัดพิธีลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิ ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัย “กรรมวิธีการแยกเส้นใยจากใบสับปะรด” ให้แก่ บริษัท ทีนิตี้ ทีม จำกัด และผลงาน “สารแขวนลอยอนุภาคซิลเวอร์นาโนและกระบวนการเตรียม” ให้แก่ บริษัท เอ็ม เคมิ จำกัด แถลงความสำเร็จของผลงานวิจัย 2 ผลงานจากคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งศักยภาพเป็นที่ยอมรับกับภาคเอกชนสู่การต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สะท้อนความสำเร็จของการผลักดันงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง
ในโอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อํานวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี ผู้คิดค้นผลงานวิจัย ‘กรรมวิธีการแยกเส้นใยจากใบสับปะรด’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชญาณิศา ชิติโชติปัญญา และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ ผู้คิดค้นผลงานวิจัย ‘สารแขวนลอยอนุภาคซิลเวอร์นาโนและกระบวนการเตรียม’ และ คุณภิญญ์ชยุตม์ อัครกุลศานต์ กรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม เคมิ จำกัด ได้ร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ โดยมีผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ รองคณบดี รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ ผู้ช่วยคณบดี ผู้บริหารบริษัท เอ็ม กรุ๊ป จำกัด รวมถึงบุคลากรหน่วยพันธกิจพิเศษด้านพัฒนาธุรกิจ (BDU) งานศาลายา และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมเป็นพยาน ณ ห้องประชุม SC2-220 ชั้น 2 อาคารวิทยาศาสตร์ 2 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ได้กล่าวว่า การที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยทำงานวิจัยและต่อยอดผลงานสู่เชิงพาณิชย์โดยเชื่อมต่อกับภาคเอกชน หรือก่อตั้งบริษัท Startup ด้วยตนเอง นอกจากจะเปิดโอกาสให้กับอาจารย์ได้นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคมแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาเข้าถึงเครื่องมือที่ทันสมัย และยังเปิดมุมมองในการเรียนรู้ทักษะผู้ประกอบการและการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกด้วย
สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT เป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมไปถึงการสนับสนุน ผลักดัน และส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากทรัพย์สินทางปัญญา งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยให้สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อสาธารณชน จึงได้มีการจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ความรู้และสร้างแรงจูงใจแก่บุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีแนวทางที่จะผลักดันให้งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ (Technology commercialization) ด้วยหลายรูปแบบกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการทำวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) หรือการต่อยอดผลการวิจัยสู่การสร้างนวัตกรรมโดยเชื่อมโยงกับภาคเอกชน โดยที่ภาคเอกชนสามารถเข้ามา Licensing technology จากมหาวิทยาลัยได้
ในปีที่ผ่านมา iNT มีเป้าหมายในการนำเสนอผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมหิดลไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการสร้างนวัตกรรมในระดับนานาชาติ ด้วยการสร้าง Entrepreneurial Ecosystem ส่งเสริมการต่อยอดงานวิจัยอันมี ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ (Intellectual Property หรือ IP) ให้ถูกนำไปสร้างเป็นนวัตกรรม รวมถึงเป็น Incubator บ่มเพาะนักศึกษา คณาจารย์รวมถึงนักวิจัยสู่การเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ (Startup) ตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นไอเดีย (Idea State) พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (R&D) ทดสอบตลาด (Market Validations) จนสามารถนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้จริง
iNT ในฐานะผู้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมไปสู่ภาคเอกชน ขอขอบคุณผู้บริหารของคณะวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ผู้ประดิษฐ์ ทีมงานและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมของมหิดลสู่การต่อยอดโดยภาคเอกชน และขอขอบคุณคณะผู้บริหาร และทีมงานของบริษัท ทรีนิตี้ ทีม จำกัด และบริษัท เอ็ม เคมิ จำกัด ที่รับบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ให้เกิดการนำไปใช้ในวงกว้าง และสร้างคุณค่าให้กับงานวิจัย หรือที่เราพูดกันว่า “จากหิ้งสู่ห้าง” ในเรื่องการสร้างประโยชน์ต่อภาคประชาชนและสังคมอย่างทั่วถึง
รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี ได้กล่าวว่า กว่า 60 ปี ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างบุคลากรที่เป็นรากฐานในการพัฒนาการศึกษาและวิทยาศาสตร์ของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย และงานวิจัยระดับนานาชาติ ด้วยความเชื่อที่ว่าวิทยาศาสตร์มีความสำคัญกับประเทศชาติและสังคม อย่างไรก็ตามการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในบริบทของสังคมไทยยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย การถ่ายทอดองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการไปยังสังคม จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคธุรกิจ และ Ecosystem ที่เข้มแข็ง ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทีมวิจัย นักศึกษา และทีมงาน iNT และทีม BDU และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่สร้างนวัตกรรมและเชื่อมต่อความร่วมมือนำเทคโนโลยีที่เกิดจากผลงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง และขอบคุณบริษัทที่เชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ ขอให้สิ่งที่เราตั้งใจทำเพื่อสังคมในวันนี้ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลงาน “เทคโนโลยีและกรรมวิธีการแยกเส้นใยจากใบสับปะรด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย ผู้คิดค้นได้กล่าวถึงที่มาการพัฒนาผลงาน และการนำไปใช้ว่า แนวคิดแรกเริ่มจากการมองหาเส้นใยธรรมชาติที่มีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ในอุตสาหกรรม ประกอบกับประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ส่งออกสับปะรดรายใหญ่ของโลก มีพื้นที่ปลูกสับปะรดกว่า 600,000 ไร่ แต่ละปีมีใบสับปะรดเหลือทิ้งปริมาณมหาศาล จึงทำการวิจัยคิดค้นวิธีการแยกเส้นใยสับปะรดที่แตกต่างจากเดิม และสามารถส่งเข้าสู่อุตสาหกรรมได้จริง รวมถึงการนำเส้นใยสับปะรดมาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้ทดแทนวัสดุจากปิโตรเลียม เสริมแรงวัสดุให้มีความแข็งแรงทดแทนไม้ เป็นต้น
และต่อมาได้ร่วมกับ นางสาวนันทินี เทศกาล นักศึกษาระดับปริญญาเอก คิดค้นเทคนิคของการใช้ใบสับปะรดมาเป็นดูดซับ เพื่อแก้ปัญหาด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยน้ำเสียจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของเส้นใยสับปะรดที่เป็นเส้นใยไมโคร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 – 4 ไมโครเมตร มีปริมาณเซลลูโลสสูง มีขนาดพื้นที่ผิวมากกว่าเส้นใยปาล์มเส้นใยฝ้าย และเส้นใยธรรมชาติอื่น ๆ มีความยาวกว่าเส้นใยเซลลูโลสทั่วไป ช่วยดึงดูดและตรึงโลหะหนักที่มีอยู่ในน้ำเสีย ในการประกวดนวัตกรรมสู่ความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนต่อยอดไปสู่การก่อตั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ร่วมกันในนาม “บริษัท ทีนิตี้ ทีม จำกัด” โดยมีปัจจุบัน TEAnity Team มีความมุ่งมั่นในการผู้นำในการผลิตเส้นใยใบสับปะรดสำหรับงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ และการจัดการของเหลืองทิ้งจากแปลงสับปะรดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ผลงานวิจัย “สารแขวนลอยอนุภาคซิลเวอร์นาโนและกระบวนการเตรียม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชญาณิศา ชิติโชติปัญญา ผู้คิดค้นร่วมกับคณะนักวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มัณฑนา จริยาบูรณ์ อาจารย์ ดร.พร้อมสิน มาศรีนวล และ อาจารย์ ภก.จักรพันธ์ โคมัยกุล ได้กล่าวถึงที่มาของผลงานว่า เกิดจากความเชื่อในการพัฒนาพื้นผิววัสดุให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ โดยเฉพาะพื้นผิวที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อด้วยตัวเองเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ โดยเริ่มจากการพัฒนาสารเคลือบพื้นผิวเพื่อแก้ปัญหาการติดเชื้อในห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก และจำเป็นต้องอาศัยทรัพยากรบุคคล เวลา และงบประมาณจำนวนมากในการรักษาห้องฉุกเฉินให้ปลอดเชื้ออยู่เสมอ
ต่อมาเมื่อเกิดการระบาดของโควิด -19 มีรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (The United States Center for Disease and Control, CDC) พบว่าหนึ่งในการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อโควิด และไปสัมผัสกับตา จมูก และปาก โดยเชื้อโควิด-19 สามารถคงอยู่บนพื้นผิววัสดุต่าง ๆ ได้แตกต่างกัน ทีมวิจัยจึงพัฒนาสารแขวนลอยอนุภาคซิลเวอร์นาโนและกระบวนการเตรียมสารแขวนลอยอนุภาคซิลเวอร์นาโนที่มีความเข้มข้นสูง มีความเสถียร สามารถเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง และมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนา ทั้งกลุ่มไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอซี 43 ที่ก่อโรคในคนชนิดไม่รุนแรง (HCoV-OC43) และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ก่อโรครุนแรง (SARS-CoV-2) ที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 และต่อยอดงานวิจัยสู่ธุรกิจ โดยตั้งบริษัท Spin off ขึ้น ชื่อว่า “บริษัท เอ็มเคมิ จำกัด” โดยมีพันธกิจหลักในการดำเนินธุรกิจด้านการขายส่งเคมีภัณฑ์ทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก และยังช่วยสนับสนุนส่งเสริมนโยบายด้านนวัตกรรมของคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล สู่การเป็นมหาวิทยาลัยด้านนวัตกรรมด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
การแถลงความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการนำ 2 ผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยการ Licensing Technology ผ่านทาง iNT ซึ่งมีจุดเริ่มต้นของความร่วมมือโดยการนำภาคธุรกิจเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย เกิดเป็นความก้าวหน้าในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจจากนวัตกรรม ซึ่งส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างแท้จริง รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจและแบบอย่างให้กับอาจารย์และนักศึกษารุ่นใหม่ในการนำวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สู่สังคมต่อไป
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : ว่าที่ ร.ต.ภัทรพล ตันตระกูล
เว็บมาสเตอร์ : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566