24 พฤศจิกายน 2566 เปิดตัว 2 นักวิจัยไทย นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล และ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนนักวิจัยไทยผู้ได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกา ในงานแถลงข่าว “จากเชียงใหม่ สู่แอนตาร์กติกา” ตามความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูด ภายใต้พระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารพระจอมเกล้า (ถนนโยธี) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
งานแถลงข่าวในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี, ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วราภรณ์ นันทิยกุล หัวหน้าโครงการความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูด, เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม อาจารย์และนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน นักวิจัยกลุ่มวิจัยรังสีคอสมิก และอนุภาคพลังงานสูง มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าว โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เดวิด จอห์น รูฟโฟโล อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้ากลุ่มวิจัยรังสีคอสมิกและอนุภาคพลังงานสูง และทีมนักวิจัย ได้เข้าร่วมยินดีกับนางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ในการแถลงข่าวครั้งนี้ด้วย
โครงการความร่วมมือนิวทริโนไอซ์คิวบ์และการสำรวจตัดข้ามละติจูด ได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในการประสานและบูรณาการความร่วมมือการวิจัยร่วมกับหน่วยงานในประเทศ อาทิ หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมแห่งชาติ (บพค.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และภาคีความร่วมมือวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และหน่วยงานในต่างประเทศ
สำหรับโครงการสำรวจตัดข้ามละติจูดของประเทศไทยเป็นการตรวจวัดรังสีคอสมิกจากท้องฟ้ามีการเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2561 และล่าสุดในปีนี้ได้ร่วมมือกับกลุ่มวิจัยของสาธารณรัฐเกาหลี ได้แก่ มหาวิทยาลัยชอนนัม (Chonnam National University), สถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลี (Korea Astronomy and Space Science Institute: KASI) และ สถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี (Korea Polar Research Institute: KOPRI) ในการศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก
โดย นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน ได้รับเลือกให้ปฏิบัติภารกิจนำเครื่องตรวจวัดอนุภาคนิวตรอนแบบเคลื่อนที่ ‘ช้างแวน’ (ChangVan) บรรทุกไปกับเรือตัดน้ำแข็งเอราออน (RV Araon) เดินทางไปกับคณะวิจัยของสถาบันวิจัยขั้วโลกเกาหลี (Korea Polar Research Institute: KOPRI) ในโครงการสำรวจตัดข้ามละติจูดร่วมกัน โดยเดินทางไปเก็บข้อมูลวิจัย ณ ทวีปแอนตาร์กติกา เพื่อศึกษาอัตราการเปลี่ยนแปลงของ ‘รังสีคอสมิก’ ซึ่งส่งผลกระทบทาง ‘สภาพอวกาศ’ และคุกคามต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ หรือแม้แต่ผู้โดยสารเครื่องบินบริเวณขั้วโลก สามารถสร้างความเสียหายต่อระบบอิเล็กทรอนิกส์บนดาวเทียมและยานอวกาศ อาจมีผลต่อการทำงานของหม้อแปลง ทำให้ไฟฟ้าดับบนโลกซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ในระดับละติจูดต่าง ๆ ตามเส้นทางจากประเทศนิวซีแลนด์ เขตวิจัยทางทะเลอามันด์เซน (Amundsen Sea Research Area) ไปยังสถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) ณ ทวีปแอนตาร์กติกา และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567 โดยจะออกเดินทางในวันที่ 26 ธันวาคม ที่จะถึงนี้
ด้านโครงการความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์ของวิสคอนซิน (WIPAC) มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโครงการหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube Neutrino Observatory) เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนจากวัตถุนอกระบบสุริยะ
โดยในปีนี้ เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม ได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 23 นักวิจัยร่วมปฏิบัติงานกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ระดับโลก ซึ่งมีสมาชิกกว่า 350 คน จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน ในการปฏิบัติภารกิจการขุดเจาะน้ำแข็ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของอุปกรณ์ตรวจวัดอนุภาค ‘นิวทริโน’ อนุภาคชนิดหนึ่งที่ไร้ประจุและเกือบจะไร้มวล สามารถเดินทางได้เร็วเกือบเท่าแสง เดินทางทะลุทะลวงจากแหล่งกำเนิดมายังโลกได้โดยตรง และเป็นพาหะใหม่ในการนำข้อมูลจากวัตถุท้องฟ้ามายังโลก ณ สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก ซึ่งพื้นผิวน้ำแข็งที่ขั้วโลกใต้มีความสูงประมาณ 2,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล หรือ สูงกว่ายอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ราว 300 เมตร โดย เรือโท ดร.ชนะ สินทรัพย์วโรดม จะเป็นนักวิจัยคนแรกของประเทศไทยที่ได้เดินทางไปถึงบริเวณขั้วโลกใต้ ณ ละติจูด 90 องศาใต้ ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก ซึ่งจะเดินทางออกจากประเทศไทยในต้นเดือนธันวาคม 2566 นี้
การเดินทางไปปฏิบัติงาน ณ ทวีปแอนตาร์กติกา ของ 2 นักวิจัยไทยในครั้งนี้จะนำมาสู่การพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงของประเทศ อาทิ เทคโนโลยีการปฏิบัติงานในพื้นที่สุดขั้ว (Extreme Condition Operation) เทคโนโลยีการขุดเจาะด้วยของไหล (Fluid-Assisted Boring) การศึกษารังสีคอสมิกเพื่อการพยากรณ์สภาวะอวกาศ (Space Weather Forecasting) การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักรของจุดบนดวงอาทิตย์ กับการแผ่รังสีคอสมิกที่เป็นอันตรายต่อโลก นอกจากองค์ความรู้ที่ได้แล้วโครงการนี้ยังเป็นการพัฒนาและเตรียมความพร้อมกำลังคนของประเทศ ในการก้าวเข้าสู่วิทยาการขั้นสูงเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566