2 พฤศจิกายน 2566 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล ผู้ช่วยคณบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมคิด อมรสมานกุล หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ สถิรคู อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์ และหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัย (นานาชาติ) ร่วมให้การต้อนรับคณะผู้แทนจาก University Technology MARA (UiTM) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาเลเซียที่ให้บริการด้านการศึกษาและนวัตกรรม ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีที่มีความทันสมัย ตั้งอยู่ในรัฐเปรัค มีวิทยาเขตครอบคลุม 34 แห่ง วิทยาลัยการศึกษา 4 แห่ง คณะต่างๆ จำนวน 14 คณะ รวมไปถึงศูนย์การศึกษา 9 แห่ง ทั่วประเทศมาเลเซีย
คณะผู้แทนจาก UiTM นำโดย Associate Professor Dr. Norhafizah Abdul Rahman หัวหน้าภาควิชาสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง (Built Environment) วิทยาลัยสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้าง พร้อมด้วย Associate Professor Dr. Puteri Rohani Megat Abdul Rahim หัวหน้าศูนย์การศึกษา สถาบันภาษาศึกษา Dr. Khairulliza Ahmad Salleh หัวหน้าศูนย์การศึกษา วิทยาลัยคอมพิวเตอร์ สารสนเทศและคณิตศาสตร์ Dr. Fathiah Abdullah หัวหน้าศูนย์การศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ Dr. Naimah Ahmad Yahya หัวหน้าศูนย์การศึกษา คณะบัญชี และ Mrs. Khalijah Ramli ผู้ประสานงาน ภาควิชาบริหารธุรกิจ
คณะผู้แทนจาก UiTM มีความสนใจในการสร้างความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการร่วมมือด้านหลักสูตรกับภาควิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งทั้งสองสถาบันได้หารือถึงความเป็นไปได้ทางการศึกษา การวิจัย กิจกรรมนักศึกษา และโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาในสาขาคณิตศาสตร์ประกันภัย (หลักสูตรนานาชาติ) ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ โดยภาควิชาคณิตศาสตร์กำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MOU) กับ UiTM ที่สามารถส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านการเรียนการสอน นักศึกษา และบุคลากร รวมไปถึงการพัฒนาหลักสูตรร่วมในลักษณะที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนได้ในทั้งสองสถาบัน
โดยหลักสูตรคณิตศาสตร์ประกันภัยของคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับการรับรองมาตรฐานหลักสูตร เป็นแห่งแรกของประเทศไทยจาก The Institute and Faculty of Actuaries (IFoA) ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพด้านคณิตศาสตร์ประกันภัยที่รับผิดชอบด้านการศึกษา และการพัฒนาการควบคุมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยในสหราชอาณาจักรและต่างประเทศ ในรูปแบบการยกเว้นการสอบ 4 รายวิชา ได้แก่ (1) Actuarial Statistics (CS1), (2) Actuarial Mathematics (CM1), (3) Business Finance (CB1), และ (4) Business Economics (CB2) เป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับมีนักศึกษาในหลักสูตรที่มีผลการศึกษาผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งถือเป็นการประกันว่าหลักสูตรมีคุณภาพการศึกษาเทียบเท่าระดับสากล
การมาเยือนของคณะผู้แทนจาก UiTM ในครั้งนี้ ได้เปิดพื้นที่ให้ทั้งสองสถาบันแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน และมีโอกาสหารือเพื่อทำความรู้จักกันมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองสถาบันสามารถนำเสนอข้อมูลความเชี่ยวชาญทางการศึกษา และการวิจัยของทั้งสองฝ่าย และร่วมมองหาแนวทางในพัฒนาการศึกษาร่วมกันในสาขา Data Analysis, Data Science และ Industrial Mathematics อาทิ จัดตั้งโครงการแลกเปลี่ยนเพื่อศึกษาวิจัยระยะสั้น การขยายความร่วมมือด้านการศึกษาดูงานไปยังภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญสู่การสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการที่แน่นแฟ้นและปูทางสู่ความร่วมมือระหว่างสองสถาบันในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนี้คณะผู้แทนจาก UITM ยังได้เยี่ยมชมและหารือความเป็นไปได้ในการสถาปนาความร่วมมือกับภาควิชาอื่นๆ ของคณะวิทยาศาสตร์ อาทิ ความร่วมมือด้านการเรียนการสอนร่วมกัน และการแลกเปลี่ยนนักศึกษาและบุคลากรกับภาควิชาเคมี และภาควิชาฟิสิกส์ รวมไปถึงความร่วมมือกับภาควิชาชีววิทยาในด้านต่างๆ อาทิ ด้านการสร้างหลักสูตรการอบรมเชิงปฏิบัติการ การเรียนการสอนร่วมกัน ที่ปรึกษาร่วม (Co-supervisor) และการทำ Benchmarking หลักสูตรทรัพยากรชีวภาพและชีววิทยาสภาวะแวดล้อม (นานาชาติ) อีกด้วย
เขียนข่าว : คุณานนต์ ศิริเขตร์ และเสฏฐวุฒิ แก้ววิเศษ
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล และปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นภาศักดิ์ ผลพานิช
เว็บมาสเตอร์: คุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566