2 พฤศจิกายน 2564 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเสวนาออนไลน์ Mahidol Science Cafe Vol.1: Nobel Prize in Physics: Physics of global warming and other complex phenomena ฟิสิกส์เรื่องโลกร้อนและปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนอื่น ๆ เล่าเรื่องงานวิจัยของ 3 นักฟิสิกส์ เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปีนี้ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ชูคุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) ศาสตราจารย์ เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์ (Klaus Hasselmann) และ ศาสตราจารย์ จอร์จิโอ ปาริซี (Giorgio Parisi) พร้อมอธิบายถึงการประยุกต์ใช้ฟิสิกส์ศึกษาปัญหาเรื่องโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ซับซ้อน โดยมี Professor Dr.David John Ruffolo และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย อาจารย์ ดร.วิทูร ชื่นวชิรศิริ หัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ดำเนินรายการผ่านทาง Facebook live ซึ่งมีผู้รับชมกว่า 100 คน
ตลอดการเสวนาวิทยากรได้เล่าประวัติของผู้ได้รับรางวัลโนเบลทั้ง 3 ท่าน พร้อมอธิบายเกี่ยวกับงานวิจัยของผู้ได้รับรางวัลโนเบล คุณประโยชน์ของงานวิจัยที่ใช้ในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ซับซ้อนในระยะยาว เช่น ภาวะโลกร้อน รวมถึงสาเหตุและผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงให้เห็นภาพชัดเจน
โดย Professor Dr.David John Ruffolo ได้เล่าถึงประวัติโดยย่อและงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ชูคุโระ มานาเบะ (Syukuro Manabe) และ ศาสตราจารย์ เคลาส์ ฮาสเซิลมานน์ (Klaus Hasselmann) ผู้สร้างแบบจำลองสภาพอากาศโลก และการอธิบายการแปรเปลี่ยนเชิงปริมาณและการพยากรณ์ภาวะโลกร้อนอย่างแม่นยำ โดยทำการศึกษาทฤษฎีความสุ่มของสภาพอากาศ และรอยนิ้วมือของอิทธิพลของมนุษย์ที่ผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในระยะยาว ซึ่งมีอิทธิพลเด่นชัดตั้งแต่หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงหลักการพื้นฐานทางฟิสิกส์ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อนเรื่อง สมดุลความร้อนของโลก รังสีความร้อน โมเลกุลซับซ้อนที่สามารถดูดกลืนรังสีความร้อน และผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกต่อสภาพอากาศของโลกและสิ่งมีชีวิต เช่น ระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น อากาศหนาวจัด ร้อนจัดในบางพื้นที่
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ ได้อธิบายเกี่ยวกับพื้นฐานงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ จอร์จิโอ ปาริซี (Giorgio Parisi) ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์สสารควบแน่นเชิงทฤษฎี ฟิสิกส์เชิงสถิติ และทฤษฎีควอนตัม ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับอันตรกิริยาระหว่างอนุภาคขนาดเล็ก จนค้นพบปฏิสัมพันธ์ของความยุ่งเหยิงและความผันผวนของระบบเชิงกายภาพ ทำให้เราสามารถจัดกลุ่มความใกล้เคียง คำนวณความน่าจะเป็นของแต่ละสภาวะ และอธิบายถึงความเสถียรของสภาวะยุ่งเหยิงได้ ซึ่งเป็นประตูสู่การศึกษาปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนตั้งแต่ระดับอนุภาคไปจนถึงดาวเคราะห์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในศาสตร์อื่นได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อะตอม ชีวเคมี การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ ภูมิอากาศวิทยา เป็นต้น
และในช่วงท้ายของการเสวนาวิทยากรทั้ง 2 ท่าน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่รุนแรงโดยมองว่า แม้ที่ผ่านมามนุษย์จะทำลายธรรมชาติด้วยเทคโนโลยี การแก้ปัญหานี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ด้วยพลังของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือและการบังคับใช้นโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังของทั่วโลก นอกจากนั้น ได้ชี้ให้เห็นว่างานวิจัยด้านฟิสิกส์นั้นมีหลายสาขาวิชาที่น่าสนใจและเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อย ปิดท้ายด้วยการสะท้อนถึงมุมมองต่อคุณค่าของรางวัลโนเบลว่า การมอบรางวัลโนเบลเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างการรับรู้ และยกย่องความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของนักวิทยาศาสตร์ ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์พื้นฐานนั้นก็เป็นสิ่งที่สำคัญ งานวิจัยที่ดูเป็นนามธรรมในวันนี้ก็อาจจะนำไปประยุกต์ใช้ในอนาคตก็เป็นได้ ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นการสะท้อนถึงความหมายของสิ่งมีชีวิตที่ทรงภูมิปัญญา ความสวยงามของมนุษย์ที่ได้ทำความเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ อีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถรับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=3085120821758461
เขียนข่าว : นางสาวปัณณพร แซ่แพ
ตรวจสอบโดย : Professor Dr.David John Ruffolo
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วฤทธิ์ มิตรธรรมศิริ
ภาพข่าวโดย: งานสื่อสารองค์กร
เว็บมาสเตอร์: นางสาวปัณณพร แซ่แพ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564
จำนวนคนดู: 166