SciEx2021 งานนิทรรศการโครงงานวิทยาศาสตร์ (Science Project Exhibition) ครั้งที่ 22

           คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานนิทรรศการ Science Project Exhibition ครั้งที่ 22 ในวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ผ่านระบบออนไลน์ WebEx Meeting เปิดโอกาสให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พลังพล คงเสรี คณบดี ประธานในพิธี กล่าวเปิดงานและกล่าวแสดงความยินดีกับว่าที่บัณฑิตคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งให้แนวคิดแก่นักศึกษาในการรับมือกับช่วงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 แบ่งปันประสบการณ์การทำงานด้านวิทยาศาสตร์ พร้อมทิ้งท้ายด้วยข้อคิดที่ว่า “NEVER before, SCIENCE is so significant.” โดยในช่วงเช้าของงานมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เส้นทางอาชีพการเป็นนักวิทยาศาสตร์ในอนาคต” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ แนวคิดหลังการสำเร็จการศึกษา พร้อมให้ข้อแนะนำในการทำงานในอนาคต กลยุทธ์การทำงานร่วมกับลูกค้า การสะสมองค์ความรู้ให้ได้มากที่สุดและมีกระบวนการ ที่ส่งผลให้ประสบความสำเร็จในการทำงาน  จากนั้นจึงเป็นการนำเสนอผลงานวิจัยคุณภาพของนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ โดยมี อาจารย์ ดร.ภากร เอี้ยวสกุล และ อาจารย์ ดร.ทิพาลัคน์ กฤตยาเกียรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงเช้า และ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฎฐวี เนียมศิริ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ จอห์นส์ แสงวิไล เป็นผู้ดำเนินรายการในช่วงบ่าย โดยการนำเสนอผลงานของนักศึกษาประกอบด้วยช่วง Short talk (การนำเสนอโครงงานละ 3 นาที) ต่อด้วยช่วง Plenary Session (การบรรยายโดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 8 โครงงาน นำเสนอโครงงานละ 10 นาที และถามตอบ 4 นาที ) และช่วง Poster Session (การนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์) ซึ่งตลอดการนำเสนอผลงานคณาจารย์จะพิจารณามอบรางวัลแก่นักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมในรายการต่างๆอีกด้วย

                 งานนิทรรศการ Science Project Exhibition เป็นกิจกรรมที่มีมาอย่างยาวนานถึง 22 ปี และมีความสำคัญยิ่งกับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ โดยมีการนำเสนอผลงานในรูปแบบการบรรยายและการแสดงโปสเตอร์ผลงานวิจัย ของนักศึกษาชั้นปี 4 พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรและรางวัลแก่นักศึกษาที่ผลงานได้รับการคัดเลือก การนำเสนอผลงานวิจัยของนักศึกษา ถือเป็นเวทีแรกที่นักศึกษาได้นำเสนอผลงานวิจัยของตนเอง และได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนนักศีกษาต่างสาขาวิชา และคณาจารย์ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษา และผู้สนใจในวิทยาศาสตร์ทุกสาขามีความตื่นตัวในวิทยาศาสตร์และมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ในวิทยาการต่างสาขานอกเหนือสาขาตนเอง รวมทั้งได้แสดงความสามารถในการวิจัยอย่างเต็มประสิทธิภาพ และสามารถถ่ายทอดผลงานสู่สังคม เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักศึกษารุ่นหลังให้เรียนรู้ และทำงานด้านวิทยาศาสตร์อย่างมีคุณภาพ เสริมสร้างบรรยากาศวิชาการด้านวิทยาศาสตร์สำหรับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ในสถาบันต่าง ๆ สร้างชื่อเสียงให้คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้นำทางวิชาการในระดับอุดมศึกษาต่อไป

เขียนข่าว : น.ส.จิรนันท์ นามั่ง
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย: น.ส.จิรนันท์ นามั่ง
เว็บมาสเตอร์:น.ส.จิรนันท์ นามั่ง
วันที่ 28 พฤษภาคม 2564