คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
28 มีนาคม 2568 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดี เข้าร่วม งานแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี Rajavithi Skywalk เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในการเดินทางเชื่อมโยงโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และการคมนาคมในพื้นที่บริเวณใกล้เคียง ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC – CEUS) เป็นประธานกล่าวต้อนรับและเปิดงานแถลงข่าว
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ สุวรรณเลิศ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์, ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อาทิตย์ อังกานนท์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี, รองศาสตราจารย์ ดร.สราวุธ เทพานนท์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ และ รองศาสตราจารย์ นายแพทย์วีระพงษ์ ภูมิรัตนประพิณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ยังได้รับเกียรติเป็นผู้ร่วมกล่าวถึงความร่วมมือในโครงการฯ พร้อมด้วย คุณโรจน์ กาญจปัญญา รองกรรมการ/สถาปนิก บริษัท ATOM Design เป็นผู้นำเสนอรายละเอียดการออกแบบ และ คุณอรยา สูตะบุตร กรรมการมูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ กลุ่ม BIG TREE เป็นผู้กล่าวถึงกระบวนการและแนวทางการจัดการต้นไม้ โดยมี องค์กร กลุ่มบุคคล หน่วยงานภาคีเครือข่าย ประชาชนทั่วไป และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
ซึ่ง โครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี Rajavithi Skywalk ถือเป็นโครงการที่ยกระดับการสัญจร เพื่อเชื่อมต่อไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ และเป็นการขับเคลื่อนโยธี-ราชวิถี สู่การเป็นย่านบริการสาธารณสุขและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่เดินเท้าได้อย่างสะดวก ปลอดภัย เป็นหนึ่งในย่านยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเมืองตามผังแม่บทการฟื้นฟูเขตเมืองชั้นใน โดยมีถนนราชวิถีเป็นแกนสำคัญในการพัฒนา อันที่ตั้งของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ และมูลนิธิช่วยคนตาบอด รวม 12 หน่วยงาน ซึ่งเป็นย่านที่มีโรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์กระจุกตัวหนาแน่นที่สุดในกรุงเทพมหานครและประเทศไทย ในปัจจุบันย่านนี้ได้ยกระดับเป็น “ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี” หรือ Yothi Medical Innovation District (YMID) ส่งผลให้ย่านโยธี-ราชวิถี เป็นพื้นที่ที่มีปริมาณผู้ใช้งานอย่างหนาแน่น ทั้งจากคนกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เดินทางมารับบริการสาธารณสุข ทำงาน และเดินทางผ่านเข้าออก ด้วยเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเชื่อมต่อจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดีในอนาคต โดยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายร่วมผลักดัน สนับสนุนการดำเนินงาน ทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางอย่าง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และคนตาบอด คนพิการ จะเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ในการเดินทางเชื่อมโยงโรงพยาบาล สถาบันการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และการคมนาคมในพื้นที่ได้อย่างสูงสุด
เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : นางสาวปนิดา พยุหกฤษ
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์ : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 28 มีนาคม 2568