Deloitte Thailand และ SEAMEO STEM-ED ร่วมกับ คณะวิทย์ ม.มหิดล และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ได้ร่วมกันต้อนรับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา รวมกว่า 50 คน ในโครงการ เปลี่ยนปลูกปรุง โดย ดีลอยท์ ประเทศไทย พร้อมพาเยี่ยมชมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลก (SPACE-F)

       11 มีนาคม 2567 Deloitte Thailand และ SEAMEO STEM-ED ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ได้ร่วมกันต้อนรับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์ที่ปรึกษา รวมกว่า 50 คน ในโครงการ เปลี่ยนปลูกปรุง โดย ดีลอยท์ ประเทศไทย (Changemaker in Sustainable Food by Deloitte Thailand) ที่จัดร่วมกับ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ศูนย์ SEAMEO STEM-ED) เข้าเยี่ยมชมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลก SPACE-F  ณ ห้องประชุม SPACE-F ชั้น 6 อาคารชีววิทยาใหม่ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พญาไท

       โครงการ เปลี่ยนปลูกปรุง โดย ดีลอยท์ ประเทศไทย (Changemaker in Sustainable Food by Deloitte Thailand) มีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างผู้นำเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยด้วยการผสานองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาและการสร้างการเปลี่ยนแปลงบนสังคมออนไลน์ โดยการรณรงค์เพื่อสังคม หัวข้อ อาหารเพื่อความยั่งยืน” ผ่านสื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างการตระหนักถึงความสำคัญ และสร้างการมีส่วนร่วมไปยังกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งขยายการรับรู้ไปสู่สาธารณชน

       สำหรับการเยี่ยมชมโครงการบ่มเพาะและเร่งการเติบโตทางธุรกิจเทคโนโลยีอาหารระดับโลก SPACE-F ในครั้งนี้ ได้มีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้โครงการ เปลี่ยนปลูกปรุง โดย ดีลอยท์ ประเทศไทย เข้าร่วมทั้งสิ้น 11 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวารีเชียงใหม่, โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนสารวิทยา, โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม, โรงเรียนสตรีวัดมหาพฤฒารามในพระบรมราชินูปถัมภ์, โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา, โรงเรียนทุ่งสง, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมีวัตถุประสงค์ในการเยี่ยมชมโคงการ SPACE-F เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับพันธกิจของโครงการฯ ได้เห็นตัวอย่าง Food-tech Startups ในโครงการ SPACE-F ที่สร้างผลงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างนวัตกรรมด้านอาหารเพื่อความยั่งยืนให้กับประเทศไทยและในระดับโลก

       โดยครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายระบบนิเวศนวัตกรรมและผู้ประกอบการ สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะผู้บริหาร คณาจารย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.พสิษฐ์ ภควัชร์ภาณุรัตน์, ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพล วงศ์ตระกูลเกตุ รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ คณะกรรมการโครงการ SPACE-F  รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา มาให้การต้อนรับ นักเรียน นักศึกษา ครูและอาจารย์ อย่างเป็นกันเอง

       สำหรับประเด็นหัวข้อ ของการจัดกิจกรรมบรรยายในการมาเยี่ยมชมโครงการ SPACE-F ในครั้งนี้ ได้ถูกสรุปและแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักที่สำคัญ ดังต่อไปนี้       

       รองศาสตราจารย์ ดร.ธัญญ์นลิน วิญญูประสิทธิ์ กล่าวถึง บทบาทหน้าที่ การให้บริการของทางสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริการแก่ ส่วนงานของมหาวิทยาลัย การให้คําปรึกษาทางธุรกิจ การตลาด การบริหารโครงการแก่ส่วนงานของมหาวิทยาลัย การดําเนินการนํางานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรภายนอกทั้งในและต่างประเทศ อาทิ การจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ การจัดตั้งหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญา, การสร้างฐานข้อมูลงานวิจัย นวัตกรรม และทรัพยากรชีวภาพของมหาวิทยาลัย รวมทั้งการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพจากบุคคลภายนอกให้สามารถนําไปวิเคราะห์ และจัดทําแผนการพัฒนางานวิจัยในด้านต่างๆ ครอบคลุมไปถึงการดําเนินการคุ้มครอง ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งทรัพยากรต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย ชุมชน และประเทศ ตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและตามข้อบังคับที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์ที่เกิดจากทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย ตลอดจนดําเนินการประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญา และศึกษาวิจัยด้านนวัตกรรม ทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งทรัพยากรต่าง ๆ ตลอดจนประเด็นอื่น ๆ ที่สําคัญ ไปจนถึงการบริหารโครงการและกํากับดูแลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยและส่วนงานให้มีประสิทธิภาพตามประกาศหรือหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย

       รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ปฐมพงษ์ แสงวิไล กล่าวเพิ่มเติม ในส่วนของโครงการ SPACE-F ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างระบบนิเวศที่ส่งเสริมศักยภาพการเติบโตและการแข่งขันของ Food-Tech Startups ในการสร้างนวัตกรรมยกระดับครัวไทยสู่ครัวโลก และช่วยให้ Startups ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมอาหารโลก โดยมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารเพื่อความยั่งยืน ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีความร่วมมือจากภาครัฐและพันธมิตรจากภาคเอกชน ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) และ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดยคณะวิทยาศาสตร์ ส่วนพันธมิตรภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ บริษัท ลอตเต้ ไฟน์ เคมิคอล จำกัด และล่าสุด บริษัท เนสท์เล่ ภูมิภาคอินโดไชน่า โดยทาง SPACE-F ได้มีทั้งโปรแกรมบ่มเพาะ (Incubator) สำหรับผู้เริ่มต้นทำ Startups และโปรแกรมเร่งความเร็วในการเติบโต (Accelerator) สำหรับ Startups ที่มีผลิตภัณฑ์แล้วและต้องการสร้างเครือข่ายเพื่อขยายตลาด และระดุมทุนจากนักลงทุน โดยเปิดรับ FoodTech Startup เข้าร่วมโครงการจากทั่วโลก

       ซึ่งทางคณะวิทยาศาตร์ ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนโครงการ SPACE-F ในการให้ใช้พื้นที่ เพื่อเป็น co-working space, co-working office และ co-working lab สำหรับให้ Startups ได้เข้ามาบ่มเพาะในโครงการ SPACE-F รวมไปถึง การให้คำปรึกษา (Consulting service) เพื่อสนับสนุนสตาร์ทอัพด้วยองค์ความรู้และเทคนิคเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก จากอาจารย์นักวิจัยที่เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของคณะฯ  

       ดังนั้น การที่ทางโครงการ SPACE-F ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท นั้น จึงถือเป็นโอกาสที่สำคัญให้กับนักเรียน นักศึกษา อาจารย์และบุคลากรทั้งในและนอกคณะฯ หรือจากมหาลัยต่างๆ ไปจนถึงหน่วยงานภายนอก ได้เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีผู้ที่สนใจในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอาหารและศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อเปิดมุมมองในการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐานสู่นวัตกรรมมาแล้ว 4 ปี โดยในปัจจุบันทางโครงการ SPACE-F ได้มีการเข้าสู่ปีที่ 5 แล้ว กับโครงการ SPACE-F Batch 5 ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการ SPACE-F Batch 5 ได้ที่ https://www.space-f.co/ และ https://www.facebook.com/spaceffoodtech

เขียนข่าว : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
ตรวจสอบโดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ณัฏฐวี เนียมศิริ
ภาพข่าวโดย : นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
เว็บมาสเตอร์: นายคุณานนต์ ศิริเขตร์
วันที่ 11 มีนาคม 2567